ต้นทุนหนี้สาธารณะของแต่ละรัฐบาลในโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้รัฐบาลต้องพึ่งพิงนักลงทุนในพันธบัตรมากขึ้น จากข้อมูลของ Janus Henderson Group Plc.
Jim Cielinski หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ทั่วโลกของ Janus Henderson กล่าวว่า ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2025 หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายและจัดสรรงบประมาณ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศจำเป็นจะต้องพึ่งพิงตลาดพันธบัตรมากขึ้น
การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษที่กลับมาลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อปีก่อน หลังจากที่เกิดแรงขายอย่างหนักในตลาดบอนด์ และการเดินหน้าขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นสัญญาณเตือนว่าการใช้จ่ายจำเป็นจะต้องลดลง
“ผู้คนจะพยายามใช้จ่ายเกินกำลัง และหลังจากนั้นการตรวจสอบและถ่วงดุลจะต้องทำผ่านกลไกตลาด”
ปัจจุบันเป็นช่วงที่ห่างไกลอย่างมากจากยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำและการอัดฉีดเงินจากธนาคารกลาง ซึ่งเอื้อให้รัฐบาลต่างๆ เคยกู้ยืมได้มหาศาลด้วยต้นทุนต่ำ การพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก อย่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากใกล้ระดับ 0% มาเป็นเกือบ 5% ภายในปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลกลางหลายแห่งกำลังลดภาระจากพันธบัตร สร้างแรงกดดันต่อตลาด
ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 21% ในปี 2022 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วที่สุดนับแต่ปี 1984 จากรายงานดัชนี Sovereign Debt ของ Janus Henderson ขณะที่หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งขึ้น 7.6% สู่ระดับ 66.2 ล้านล้านดอลลาร์
“ผู้คนต่างรู้สึกชาชินที่จะเพิ่มตัวเลขนี้ขึ้นไปอีก เราผ่านช่วงเวลาเกือบ 20 ปีในการเพิ่มหนี้อย่างหนัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากดอกเบี้ยมากนัก ในหลายมุม ช่วงเวลาของการได้อะไรมาฟรีจบลงแล้ว และปัญหาด้านการคลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอีกทศวรรษข้างหน้า”
ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดบอนด์อาจจะได้รับประโยชน์ อัตราดอกเบี้ยน่าดึงดูดมากขึ้นกว่าเมื่อปี 2007 ด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ไม่เพียงแค่ผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ยังได้รับส่วนต่างราคาที่มากขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยลดลงหลังจากนี้
หุ้นกู้ระยะยาวน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีมากในปีหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจถูกกดดัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา โดยดัชนี Bloomberg Global Aggregate ที่วัดตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ปรับตัวลดลง 16% ในปี 2022 ถือเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดนับแต่ปี 1991 ขณะที่อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากราว 1.3% สู่ระดับ 4% ในเดือนตุลาคม ก่อนจะหดตัวลงมาอยู่ที่ราว 3.5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
อ้างอิง: