กระทรวงพาณิชย์เผย เงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัว 4 เดือนติดต่อกัน แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน ต่ำที่สุดในอาเซียน และต่ำติดอันดับ 14 ของโลก มั่นใจเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมชะลอตัวต่อเนื่อง เหตุฐานปีก่อนสูง ราคาน้ำมันต่ำ ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว
วันนี้ (3 พฤษภาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือนเมษายน ปี 2566 เท่ากับ 107.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 105.15 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 2.67%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน
สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเมษายน 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้สูงขึ้นเล็กน้อย 0.19%MoM ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น 0.34% และสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.08%
โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, เม็กซิโก, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้น 1.66%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้น 1.75%YoY
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจาก
- ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
- ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัวแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวและคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ เช่น ราคาก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ, ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร, อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7%-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
เปิดมุมมองกูรูต่อแนวโน้มเงินเฟ้อไทย ข้อกังวลหลักของแบงก์ชาติ
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อไทยโดยรวมในเดือนนี้เป็นไปตามคาด แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าที่คาด แต่มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังลดลงค่อนข้างช้า
ณัฐพรยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะต่ำกว่าครึ่งปีแรกอยู่ที่ประมาณ 2% ต้นๆ หลังคำนวณค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น และการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่ลดลงไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ณัฐพรเตือนว่า สิ่งที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีที่ต้องจับตาคือ การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการและภัยแล้ง ที่อาจผลักดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ 2.8%
ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Macro and Wealth Research บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ก็มองว่า ตัวเลขที่ออกมาเป็นไปตามคาดเช่นกัน เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลง และราคาอาหารก็ไม่เพิ่มขึ้นมาก
ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 31 พฤษาคมนี้
โดยจิติพลประเมินว่า กนง. น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2% ในช่วงสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังปรับตัวสูงอยู่ แสดงว่ายังมีกำลังซื้ออยู่ โดยอาจเป็นคนบางกลุ่มที่ยังซื้อของแพงได้อยู่ พร้อมทั้งมองว่า โอกาสที่จะขึ้นไปถึง 2.25% ก็ยังมี ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของโลก
จิติพลยังกล่าวด้วยว่า กนง. น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ลงมาประมาณ 2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็ต้องอยู่ระดับไม่ใกล้ระดับ 2% แบบที่เป็นอยู่ขณะนี้
สอดคล้องกับณัฐพรที่มองว่า กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แม้เงินเฟ้อจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว เนื่องจาก ธปท. ต้องสร้าง Policy Space ซึ่งหมายความว่า การสร้างพื้นที่ดำเนินนโยบายหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจบีบบังคับทำให้ธนาคารกลางต้องปรับลดดอกเบี้ยเร็วๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3-4% แล้ว ทำให้มีพื้นที่ (Room) มากกว่าไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อัตราเงินเฟ้อไทยยังส่งสัญญาณความหนืด (Sticky) อยู่หรือไม่ จิติพลมองว่า ยังหนืดอยู่ เนื่องจากเมื่อดูจากดัชนี CPI พบว่า ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 107.96 จาก 105.15 ในปีก่อน โดยราคาระดับนี้น่าจะค้างต่อไป ถ้าราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ลดลง
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นเงินเฟ้อไทยยังน่าจะหนืดต่อไปจนกว่าจะเห็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจบางอย่าง เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และตลาดการเงินมีปัญหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เงินบาทแข็งค่า’ ทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 เดือน เก็ง Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย ฉุดดอลลาร์อ่อน กรุงศรีมองกรอบเงินบาทปีนี้ 32-33 บาท
- ‘เงินบาท’ แข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน คาด Fed ลดความแข็งกร้าวขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
- ว่าด้วย ค่าเงินบาท เดือนมกราคม ปีกระต่าย