บลจ.ไทยพาณิชย์ สั่งให้ติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญกระทบการลงทุน ทั้ง Earnings Season, ดอกเบี้ย, ตัวเลขเศรษฐกิจ พร้อมคาด Sell in May เริ่มมีน้ำหนักต่อการลงทุนที่ลดลง
สิทธา เซ่งไพเราะ Associate Director, ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ หรือ SCBAM กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในเดือนพฤษภาคม 2023 ประเมินว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการลงทุนดังนี้ ปัจจัยที่ 1 คือ Earnings Season ซึ่งในสัปดาห์นี้ต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้าจะมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 สัดส่วนราว 70% ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/23 ออกมา โดยต้องติดตามข้อมูลตัวเลขว่าหากออกมาดีกว่าที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นได้ แต่หากมีตัวเลขออกมาต่ำกว่าที่คาดก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน
“ความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ากำไรและยอดขาย บจ.ของสหรัฐฯ ไตรมาส 1/23 ไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่จะออกมามีอัตราการเติบโตติดลบ แต่หากตัวเลขยังออกมาแย่กว่าที่คาดก็มีโอกาสจะเห็นการลงทุนของตลาดได้”
ปัจจัยที่ 2 คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยซึ่งยังคงมีผลกระทบอยู่ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับนักลงทุนยังมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงทิศทางดอกเบี้ย โดยจาก Dot Plot ของ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้อีก 1 ครั้งสู่ระดับ 5.25% จากนั้นจะคงดอกเบี้ยไว้ถึงสิ้นปี 2023 โดย SCBAM ประเมินว่าหากเกิดกรณีนี้ขึ้น คาดว่าในระยะสั้นมีโอกาสให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ รวมถึงอาจเห็นแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทค ที่มีความอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยออกมา
ขณะที่ข้อมูลจาก FedWatch Tool ที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุนมองว่า Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีกจำนวน 1 ครั้งเช่นกันในการประชุมรอบเดือนพฤษภาคมนี้ แต่คาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในช่วงปลายนี้ โดย SCBAM มีความกังวลหากเกิดกรณีนี้ขึ้นในขณะนี้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับสูงก็อาจเป็นความเสี่ยงว่าจะมีวิกฤตเกิดขึ้นในระยะข้างหน้ากับเศรษฐกิจหรือสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือตลาดหุ้นในระยะข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจึงยังต้องติดตามท่าทีหรือการส่งสัญญาณของ Fed อีกครั้งในช่วงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานออกมาในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้จะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed
ปัจจัยที่ 3 คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่นักลงทุนเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกังวลในประเด็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยแนะนำให้ติดตามตัวเลขยอดขายกลุ่มค้าปลีกและตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมนี้ หากออกมาชะลอตัวลงไม่แรงก็มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยบวกหนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นตัว หรือนักลงทุนคลายกังวลลงได้ในระยะสั้น
“เดือนพฤษภาคมเรามองว่าตลาดหุ้นอาจมีความเสี่ยงขาลงในช่วงต้นเดือน ส่วนช่วงกลางถึงปลายเดือนอาจจะมีโอกาสฟื้นตัวจากตัวเลขเศรษฐกิจ”
สำหรับ Sell in May เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนในเชิงฤดูกาล เนื่องจากหากดูข้อมูลสถิติย้อนหลังในอดีต ตลาดหุ้นโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปีมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี ส่งผลให้นักลงทุนมีแรงเทขายทำกำไร (Take Profit) เพื่อล็อกกำไรจากการลงทุนไว้
อย่างไรก็ดี หากไปดูข้อมูลสถิติช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่าตลาดหุ้นโลกมักไม่ค่อยเกิดภาวะ Sell in May เนื่องจากพบว่าทั้งตลาดหุ้นจีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นบวกเป็นส่วนใหญ่ระหว่าง 0.41-1.43% มีเพียงตลาดหุ้นไทยเท่านั้นที่ให้ผลแทนการลงทุนที่ติดลบเฉลี่ย 0.56% ดังนั้นประเมินว่าปัจจัยเชิงฤดูกาลประเด็น Sell in May เริ่มมีน้ำหนักต่อการลงทุนที่ลดลง
สำหรับคำแนะนำการลงทุน ให้กระจายการลงทุนหรือกระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยให้ลงทุนกระจายในแต่ละประเภทสินทรัพย์ โดยเพิ่มน้ำหนักพอร์ตลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้โลก เนื่องจากมีผลตอบแทนจากสองส่วนหลัก ส่วนแรกมาจากระดับดอกเบี้ยที่สูง ก็จะเป็นโอกาสที่กองทุนจะสร้างผลตอบแทนที่สูงด้วย ส่วนที่สองคือราคาที่มาจากการ Mark to Market แบบรายวัน เพราะเมื่อดอกเบี้ยหยุดขึ้นหรือเริ่มปรับตัวลดลงก็จะเป็นปัจจัยบวก ส่งผลให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการที่คาดการณ์ว่า Fed เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะยังมีค่า P/E Ratio ที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงหุ้นไทย ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของกำไร บจ. ในปี 2023 น่าจะเติบโตในระดับไม่น้อยกว่า 10% จึงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีนในช่วงที่มีข่าวร้ายเข้ามาในระยะสั้น
ส่วนกรณีที่แยกหุ้นเป็นรายอุตสาหกรรม แนะนำการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง ทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับยุโรปที่สามารถทนทานได้ในช่วงที่เข้าใกล้ Recession รวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เพราะสามารถปรับราคาขายขึ้นได้ สะท้อนกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- SCB EIC คาดนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยปีนี้ ‘ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน’ พร้อมมองความเสี่ยงโลกถดถอยเริ่มลดลงจาก 3 ปัจจัย
- SCB CIO มองเงินบาทสิ้นปีแตะ ‘33-34 บาทต่อดอลลาร์’ แนะนักลงทุนป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
- SCBX โชว์กำไรสุทธิปี 65 จำนวน 3.75 หมื่นล้าน โต 5.5% รับรายได้ดอกเบี้ยพุ่ง ขณะที่ ttb กวาดกำไรทะลุ 1.4 หมื่นล้าน เพิ่มจากปีก่อน 36%