วานนี้ (25 เมษายน) ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมประชันวิสัยทัศน์
สำหรับ Round 2: The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัวในหัวข้อ ‘การเมืองความฝัน vs. การเมืองความจริง’ ในคำถามที่ว่า คุณมีนโยบายอะไรที่จะทำให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาด ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่าง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ, วราวุธ ศิลปอาชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ วิทยา แก้วภราดัย ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ
มิ่งขวัญกล่าวว่า ตนเองต่อต้านความเหลื่อมล้ำ ต่อต้านการครอบงำ และพร้อมที่จะชนกับทุกนายทุนที่มาครอบงำประเทศ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการที่จะเป็นศัตรูกับใคร แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ก่อนประชาชนคนไทยในระดับปานกลางถึงยากจนนั้นอยู่ที่ 85% และอีก 15% คืออยู่ในระดับปานกลางถึงสูง แต่วันนี้มีประชาชนที่มีรายได้สูงไม่ถึง 1% และเงินก็ไหลไปอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นที่มีอยู่ไม่ถึง 20 คนเท่านั้น
มิ่งขวัญยืนยันว่า ไม่ว่าจะรวยแค่ไหนตนเองก็ไม่สนใจ ตนเองต่อต้านการผูกขาดทุกรูปแบบ ดังนั้นการลดราคาน้ำมัน การลดราคาแก๊ส การลดราคาไฟฟ้า ทุกอย่างจะเป็นการต่อต้านเรื่องความเหลื่อมล้ำ แล้วตนเองต้องการให้เงินกระจายสู่คนรากหญ้า ตนเองต้องการทำทุกอย่างที่จะต่อต้าน และจะสู้กับเรื่อง
เรื่องนี้ถ้าตนเองได้มีโอกาสเข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจก็จะทำให้เห็น และหลายคนคงจะเคยได้เห็นผลงานของตนเองตอนที่เป็นผู้อำนวยการอยู่ที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) หรือแม้แต่ตอนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่สนใจใคร และอยากเห็นประชาชนคนไทยมีความสุขภายใต้กฎหมาย มีข้อมูลต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใสที่สุด
ส่วนวราวุธกล่าวว่า สิ่งแรกที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะทำคือ การเพิ่มงบการลงทุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขณะนี้มีงบลงทุนเพียง 4 แสนบาท ในขณะที่บางองค์กรมีงบลงทุนนับร้อยล้านพันล้าน ความเหลื่อมล้ำตรงนี้เราต้องเสนอให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณลงทุนอย่างน้อย 10 ล้านบาท ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่มีงบลงทุนมากกว่านี้อยู่แล้ว เราก็ไม่ว่ากัน
“เรื่องคาร์บอนเครดิตก็จะเป็นการกระจายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ระดับ SMEs และอุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับนานาชาติ เพราะนโยบายที่เรานำเสนอนี้ทำได้จริงแล้ว เกษตรกรในสุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตไร่ละ 500 บาทต่อปีต่อไร่” วราวุธกล่าว
ขณะที่วิทยากล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปในพื้นที่ชนบทหลายครั้ง เพื่อไปหาเสียงทาง เข้าเกือบทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน จะเห็นป้ายชวนกู้เงินนอกระบบ และใช้บริการกู้เงินนอกระบบมาโดยตลอด
การที่ไม่สามารถเข้าสู่แหล่งเงินกู้ได้นั้น ภาครัฐควรจะหาช่องทางให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ หลักแนวทางที่สามารถทำได้ในตอนนี้คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่จำนวน 300 บาท หากมีการปรับขึ้นเป็น 1,000 บาท เท่ากับว่าประชาชนจะมีเงินเดือนเดือนละ 1,000 บาท แล้วไปที่ธนาคารออมสินเพื่อขอกู้ฉุกเฉิน 10 เดือน ทำให้หนี้ในส่วนนี้หายไป