×

‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ ภารกิจบ่มเพาะว่าที่นักธุรกิจรุ่นเยาว์ ทำธุรกิจได้จริงใน 66 วัน! [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2023
  • LOADING...
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

HIGHLIGHTS

10 min read
  • ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ ด้วยการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว ‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด ‘66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง’ บ่มเพาะเยาวชนมัธยมปลายให้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
  • นำร่องเยาวชนระดับมัธยมปลายจำนวน 40 คน จาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ตอกย้ำเจตนารมณ์การพัฒนาเยาวชนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง สามารถกลับมาดูแลท้องถิ่น พัฒนาชุมชน และสร้างความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิดและพื้นที่ใกล้เคียง สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
  • เยาวชนทั้ง 40 ชีวิต จะได้เติมเต็มองค์ความรู้ตั้งแต่การสร้างสรรค์และทดสอบไอเดียธุรกิจ ไปจนถึงการเปลี่ยนไอเดียธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการเรียนรู้แบบสนุกสนานจากกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่ แคมป์ ‘กล้าเรียน’ แคมป์ ‘กล้าลุย’ และแคมป์ ‘กล้าก้าว’

โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะกลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นหากต้องการเป็นผู้รอดในอนาคต ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ ด้วยการสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย จึงเปิดตัว ‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด ‘66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง’ บ่มเพาะเยาวชนมัธยมปลายให้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยมีวิทยากรมืออาชีพ กูรูด้านธุรกิจระดับประเทศ และผู้ประกอบการตัวจริง ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) และผู้ร่วมก่อตั้ง 500 TukTuks, วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาโปรตีนจากพืชแบรนด์ More Meat และสุดท้ายกับ มนูญ ทนะวัง และ จารุวรรณ จิณเสน ผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน มาร่วมพัฒนาทักษะใหม่และเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” นำร่องบ่มเพาะเยาวชนระดับมัธยมปลายจำนวน 40 คน จาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ตอกย้ำเจตนารมณ์การพัฒนาเยาวชนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง สามารถกลับมาดูแลท้องถิ่น พัฒนาชุมชน และสร้างความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิดและพื้นที่ใกล้เคียง สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

 

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เล่าถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของ ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ ที่ก่อตั้งโดยธนาคารกสิกรไทยเมื่อปลายปี 2565 เพื่อต่อยอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาให้มีความต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการมอบโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริง เพื่อให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุลในอนาคต

 

“แนวคิดนี้เป็นดำริของ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนโดยผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญ โดยเฉพาะในเยาวชน โดยเชื่อว่าหากประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่ดี จะส่งผลต่อความคิดเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ธนาคารกสิกรไทยจึงสานต่อแนวคิดริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาขึ้นในปี 2556 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จนถึงปี 2562 และดำเนินโครงการต่อเนื่องในจังหวัดน่านจนถึงปี 2565 พบว่า เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการความคิด สามารถตั้งสมมติฐานและหาคำตอบด้วยตรรกะ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

“เพาะพันธุ์ปัญญากำลังเข้าสู่ระยะที่สอง โดยได้มีการก่อตั้งเป็น ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ ขึ้นเมื่อปลายปี 2565 เพื่อต้องการให้เกิดความต่อเนื่องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด โดยวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาคือการ ‘ให้’ เป็นการให้ทั้งองค์ความรู้ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริงแก่เยาวชน เมื่อพวกเขามีระบบความคิดที่ดี หากได้องค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เติมเข้าไปอีก เมื่อก้าวสู่สนามแข่งขันจริงพวกเขาจะมีความครบเครื่องและพร้อมที่จะแข่งขัน ซึ่ง ‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ จะทำหน้าที่เติมเต็มเรื่องเหล่านี้” ดร.อดิศวร์กล่าว

 

‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 จะเป็นโครงการที่เสริมสร้างสมรรถนะของเยาวชนให้มีองค์ความรู้ใหม่และทักษะใหม่ผ่านกิจกรรมในโครงการที่ดึงศักยภาพของเยาวชนออกมาใช้ในการทำธุรกิจจริง ภายใต้แนวคิด ‘66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง’ ตลอดเวลา 66 วัน ทุกคนจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมเสริมความรู้จากวิทยากร ซึ่งเป็นนักธุรกิจตัวจริงระดับประเทศ เปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนได้เห็นมุมมองและแนวทางใหม่ๆ กระตุ้นให้เกิดการสร้างไอเดียธุรกิจ

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

 

นอกเหนือจากแนวคิดการทำธุรกิจ เยาวชนทุกคนจะได้ทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดเป็นตรรกะ และเรียนรู้ที่จะ ‘ล้มแล้วลุกเป็น’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องมี และที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจต่อจากนี้ คือเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เพราะกำไรสูงสุดอาจไม่ใช่เป้าหมายของการทำธุรกิจในอนาคตอีกต่อไป ต้องเรียนรู้การทำธุรกิจด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

 

ดร.อดิศวร์ยังบอกถึงเหตุผลที่เลือกเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังแสวงหาแนวทางการดำเนินชีวิตก่อนก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เหมาะกับการมอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดทักษะใหม่ มีตรรกะในการดำรงชีวิต สามารถสร้างสมดุลให้แก่ตนเอง

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

 

“น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นกลุ่มที่สนใจอยากทำธุรกิจ อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากมีรายได้และประสบความสำเร็จ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์จะทำให้พวกเขาเข้าใจว่าการทำธุรกิจจะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ควรเริ่มจากตรงไหน และที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนทั่วไปเลย เรามีทุนจำนวนหนึ่งให้ทุกคนได้ออกไปทำธุรกิจจริง เรียนรู้ประสบการณ์จริง เพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าสิ่งที่คิดและอยากจะทำนั้นจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะ แต่เป็นการเรียนเพื่อให้รู้ว่าอะไรที่เคยทำแล้วไม่ได้กำไร อะไรที่ทำแล้วไม่สำเร็จ นี่คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

 

“สามเรื่องหลักๆ ที่พวกเขาจะได้รับคือ ความรู้ใหม่ในการทำธุรกิจ ทักษะในการทำธุรกิจ และโอกาสในการลองผิดลองถูก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการจะเติมเต็มองค์ความรู้และทักษะที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาในอนาคต และเป็นประสบการณ์ที่ติดตัวไปตลอดชีวิต ที่สำคัญ เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ เขาจะกลับไปดูแลพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ซึ่งถือเป็นความหวังระยะยาวของทางมูลนิธิ”

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

 

สำหรับเหตุผลที่ ‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 เลือกนำร่องที่จังหวัดน่าน ดร.อดิศวร์อธิบายว่า นอกจากเพาะพันธุ์ปัญญาในภาคแรก (น่านเพาะพันธุ์ปัญญา) จบโครงการที่จังหวัดน่านแล้ว จังหวัดน่านยังเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการเรียนรู้หลายๆ ด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

 

“ความเหมาะสมทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี เหมือนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เยาวชนจะได้เรียนรู้ มีโจทย์ในเรื่องความคิด ทำให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างกันได้”

 

โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย

  1. โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร อ.เมืองน่าน
  2. โรงเรียนสา อ.เวียงสา
  3. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา
  4. โรงเรียนปัว อ.ปัว
  5. โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม อ.ท่าวังผา
  6. โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา อ.เชียงกลาง
  7. โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง และ
  8. โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) และผู้ร่วมก่อตั้ง 500 TukTuks

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาโปรตีนจากพืชแบรนด์ More Meat

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

มนูญ ทนะวัง และ จารุวรรณ จิณเสน ผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน

 

เยาวชนทั้ง 40 ชีวิต จะได้เติมเต็มองค์ความรู้ตั้งแต่การสร้างสรรค์และทดสอบไอเดียธุรกิจ ไปจนถึงการเปลี่ยนไอเดียธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการเรียนรู้แบบสนุกสนานจากกิจกรรม 3 แคมป์ ได้แก่

 

แคมป์ที่ 1 ‘กล้าเรียน’ ปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจ ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ โดยระหว่างการเรียนรู้ ทั้ง 8 ทีมจะต้องนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาไอเดียธุรกิจที่มีคุณค่า และนำทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำไปทดลองตลาดต่อไป (Minimum Viable Product: MVP)

 

แคมป์ที่ 2 ‘กล้าลุย’ บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เรียนรู้จุดเด่นจุดด้อย เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการ โดยทีมเยาวชนจะได้นำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คิดและพัฒนาไปทดลองขายหรือสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริโภคตัวจริงที่ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน เพื่อนำผลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และเดินหน้าจัดจำหน่ายเป็นธุรกิจจริงต่อไป

 

แคมป์ที่ 3 ‘กล้าก้าว’ (วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2566) รายงานและนำเสนอผลประกอบการ รับแรงบันดาลใจ ซึ่งทั้ง 8 ทีม จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและนักธุรกิจตัวจริง โดยจะประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ทีมที่มีผลงานยอดเยี่ยมและได้รับคะแนนสะสมมากที่สุด นอกจากนั้น เยาวชนจะได้เปิดโลกทัศน์เรียนรู้ประสบการณ์จากบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และผู้นำความคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับประเทศในงานปัจฉิมนิเทศ

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

 

จนถึงตอนนี้ เยาวชนทั้ง 8 ทีม ได้ผ่านการเรียนรู้แคมป์ที่ 1 ‘กล้าเรียน’ ด้วยการออกสำรวจพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง และเรียนรู้แนวคิดการทำธุรกิจจากกูรู แม้จะมีเวลาที่กระชั้นชิดเป็นข้อจำกัด แต่ทุกทีมก็สามารถกลั่นไอเดียธุรกิจจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวและขยายผลสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างภายในระยะเวลาเพียง 5 วัน

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

ปกรณ์ ทองประเสริฐ (ป้าง)

 

ปกรณ์ ทองประเสริฐ (ป้าง) ตัวแทนทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง

ที่ฝันอยากเป็นเกมเมอร์ ยูทูเบอร์ และอยากผลิตสินค้าแฮนด์เมดจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว บอกว่า การเข้าร่วมแคมป์ทำให้เขาได้ไอเดียใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เรียนรู้เรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน ทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจต้องใช้กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และการออกไปสำรวจตลาดทำให้เห็นว่ายังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่เราก็เองสามารถผลิตได้เองและสามารถจำหน่ายได้ เช่น หมวกจากร้านเสื้อผ้าแฮนด์เมด และขนมพื้นบ้าน

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

จิระศักดิ์ แดงต๊ะ (จีโน่)

 

จิระศักดิ์ แดงต๊ะ (จีโน่) โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น

ตั้งใจเข้าร่วมเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์เพราะชอบทำธุรกิจ สนใจธุรกิจเกี่ยวกับของกิน การเข้าร่วมแคมป์ทำให้เขาเข้าใจเรื่องการหากลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์สินค้า ควรเลือกแบบไหน เขามีปัญหาอะไรและจะตอบสนองอย่างไร ช่วยทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการทำธุรกิจในอนาคตว่าจะประกอบธุรกิจอะไร ทำเพื่อใคร ผลิตอย่างไร และมีกระบวนการผลิตอย่างไร รวมถึงเรื่องต้นทุน เช่น ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ช่วยให้แนวคิดการทำธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

นารี แซ่โซ้ง (ออม)

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

เพชรชรินทร์ คำพุฒ (นับหนึ่ง)

 

ด้าน นารี แซ่โซ้ง (ออม) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา

เด็กสาวที่ฝันอยากเป็นพยาบาลดูแลรักษาสัตว์ พร้อมๆ กับการทำธุรกิจเป็นอาชีพเสริม ได้เรียนรู้ว่าผู้ประกอบการที่ดีคืออะไรและทำไมถึงต้องมีทีมที่ดี รวมถึงการทำธุรกิจอย่างไรถึงจะไม่ขาดทุน ในขณะที่ เพชรชรินทร์ คำพุฒ (นับหนึ่ง) โรงเรียนสา อ.เวียงสา เด็กสาวที่มีไอดอลเป็นนักธุรกิจ ทำให้เธอชอบฟังแนวคิดการทำธุรกิจแม้จะไม่เคยมีความคิดที่จะทำธุรกิจ แต่แคมป์นี้ช่วยให้เธออยากลองทำธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เหมือนที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยบอกว่า “หากจะทำสิ่งที่มีคนทำอยู่แล้วจะทำไปทำไม ทำไมเราจะทำเพื่อไปแข่งขันกับเขา แล้วทำไมเราไม่ทำในสิ่งที่แตกต่าง” และการได้เรียนหลักการจากกูรูตัวจริง ได้ลองทำจริง เชื่อว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลายอย่าง

 

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

 

เมื่อถามว่าหลังจบโครงการคาดหวังให้เยาวชนเติบโตไปทำธุรกิจหรือไม่นั้น ดร.อดิศวร์กล่าวว่า “เราไม่ได้หวังว่าทุกคนจะไปเป็นนักธุรกิจ แต่ต้องการให้พวกเขามีองค์ความรู้และข้อมูลมากพอเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจว่าตัวเขาเหมาะจะเป็นนักธุรกิจหรือไม่ ซึ่งเราเชื่ออย่างยิ่งกว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ จะเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสเยาวชนในจังหวัดน่านได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่และไอเดียธุรกิจที่สร้างสรรค์ ได้ลงมือทำธุรกิจจริง ซึ่งจะทำให้ได้พัฒนาทักษะในการจัดการอย่างมืออาชีพทั้งกระบวนการ ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นสู้อย่างไม่ท้อถอย สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมแคมป์

 

“เชื่อมั่นว่าองค์ความรู้และประสบการณ์จากเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ จะเติมเต็มและสร้างความพร้อมให้กับเยาวชนในการรับมือกับโจทย์ใหม่และความท้าทายที่จะเข้ามาในอนาคตอย่างมั่นใจ ซึ่งระบบการเรียนรู้นี้จะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป” ดร.อดิศวร์กล่าวทิ้งท้าย

 

ธุรกิจไหนจะถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นต้นกล้าแห่งปัญญาและได้พัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถลุยตลาดได้จริง ร่วมลุ้นและให้กำลังใจน้องๆ ทั้ง 8 ทีมในแคมป์ ‘กล้าลุย’ วันที่ 20-23 เมษายน 2566 และแคมป์ ‘กล้าก้าว’ ในวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X