S Hotels & Resorts ชี้แจงกรณีประกาศปิดทำการโรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort ในมอริเชียสชั่วคราว ตั้งแต่ 15 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อรับมือเชื้อลีจิโอเนลลาตามมาตรการรัฐ ด้านราคาหุ้นเริ่มฟื้น หลังวานนี้ดิ่งเฉียด 10%
ชัยรัตน์ ศิวะพรพันธ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท หรือ SHR แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้ประกาศมาตรการเพื่อรับมือกับการตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella) โดยได้ประกาศหยุดทำการโรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort ซึ่งตั้งอยู่ในมอริเชียสเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2023 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของรัฐบาลที่มอริเชียสประกาศออกมาเพื่อควบคุมดูแลเชื้อลีจิโอเนลลา เพื่อให้ซ่อมบำรุงระบบบริหารจัดการน้ำของโรงแรม
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินระยะเวลาในการหยุดทำการ และประมาณการผลกระทบต่างๆ จากการหยุดทำการเพื่อซ่อมบำรุงดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าโรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort จะสามารถกลับมาเปิดทำการได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2023
ในปี 2022 โรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort มีสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 2.5% ของกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทมีแนวทางในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีการควบคุมต้นทุนและการบริหารจัดการอัตรากำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างการประกาศหยุดทำการชั่วคราว
สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวของภูมิภาคอื่นๆ เช่น ไทย มัลดีฟส์ สหราชอาณาจักร และฟีจี ยังคงมีปริมาณความต้องการเดินทางในระดับสูง และอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
หลังจากมีข่าวกรณีที่โรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort ประกาศปิดเป็นการชั่วคราว ได้กดดันราคาหุ้น SHR อย่างหนัก โดยวานนี้ (19 เมษายน) ปิดที่ 3.56 บาท ติดลบ 9.64% ขณะที่หลังจากชี้แจงข้อมูลส่งผลให้ SHR เปิดตลาดวันนี้ (20 เมษายน) ราคาฟื้นตัวอยู่ที่ 3.64 บาท บวก 2.25% โดยระหว่างการซื้อขายขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 3.72 บาท บวก 4.49%
จากการตรวจสอบข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่าก่อนหน้านี้ช่วงปี 2016 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกรายงานว่า เชื้อลีจิโอเนลลาเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดอักเสบจากการใช้ฝักบัวในห้องพักโรงแรมในต่างประเทศ และพบผู้ป่วยติดเชื้อในไทย
ดังนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ตได้สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย โดยเก็บตัวอย่างน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ หอผึ่งเย็น ถังเก็บน้ำ ฝักบัว ก๊อกน้ำ สปา สระว่ายน้ำ และถาดแอร์ จากโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ มาตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีเพาะเชื้อ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2016 จำนวน 1,508 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่าตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา 116 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำที่พบเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ น้ำจากฝักบัว สปา และก๊อกน้ำ แต่ปริมาณที่พบยังไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดโรคในคน
ทั้งนี้ ลีจิโอเนลลาเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ 2 ลักษณะ หากติดเชื้อโดยมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วยอาการก็จะรุนแรงและเกิดอัตราการป่วยตายสูง เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ส่วนอาการแบบไม่รุนแรงเรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก อาการจะคล้ายๆ ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โรคนี้จะแสดงอาการรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไต ปอดเรื้อรัง หรือในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะติดเชื้อนี้ได้ง่าย แล้วโรคก็จะลุกลามจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%