วันนี้ (16 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แถลงสรุปการยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า สนช. มีข้อยุติเรื่องการยื่นตีความแล้ว โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ทั้งสองฉบับไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเห็นว่าร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ได้มีการงดเว้นการบังคับใช้ให้มีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน จึงมีเวลาเพียงพอที่จะส่งร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วงและเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย รวมถึงมีกระแสกดดัน สนช. จึงมีมติยื่นร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะประเด็นการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้นเกี่ยวกับโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องใหญ่
นายพรเพชรเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ว. ได้ภายเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลา 90 วัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วงและเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากมีใครไปยื่นให้ศาลตีความหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายล้มทั้งยืนได้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดใหม่
โดย นายกิตติ วะสีนนท์ พร้อมสมาชิก สนช. อีก 30 คนเข้าชื่อกัน เป็นการยื่นศาลวินิจฉัยในรายประเด็นตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ทักท้วงมา ซึ่งหากฝ่ายเลขาฯ ทำหนังสือยื่นคำร้องเสร็จทันวันนี้ (16 มี.ค.) ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่หากไม่ทันวันนี้ (16 มี.ค.) ก็จะนำส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมนี้
นายพรเพชรกล่าวถึงร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ที่มีข้อทักท้วงมานั้น สนช. เห็นว่าข้อท้วงติงทั้งเรื่องการตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและการให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนนั้นไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดกับเจตนารมณ์ของ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา โดยคาดว่าจะนำส่งร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกรัฐมนตรีได้ภายในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมนี้
ดังนั้น สนช. จะไม่ส่งร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่หากมีผู้ไม่สบายใจและกังวลว่าอาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็สามารถไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงความกังวลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. บางคนที่มองว่าหากไม่กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้พิการให้ชัดเจนก็อาจทำให้การเลือกตั้งในอนาคตเป็นโมฆะได้ หากยังไม่สบายใจก็สามารถยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญได้
อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ประสงค์ต้องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. สามารถทำได้หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หรือสามารถยื่นได้ 150 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในขณะนี้จะกระทบกับโรดแมปจนทำให้กระบวนการเลือกตั้งล้มทั้งยืน