×

‘พาณิชย์’ จับมือ ‘ธรรมศาสตร์’ เร่งศึกษาผลกระทบการแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน หวังดึงดูดต่างชาติย้ายฐานผลิตมาไทย

18.04.2023
  • LOADING...
โซ่อุปทาน สหรัฐฯ จีน

กระทรวงพาณิชย์จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประกอบการ เร่งศึกษาผลกระทบการแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐอเมริกา-จีนต่อไทย คาดไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประเมินแนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญที่มีนัยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้น ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร 

 

ผอ.สนค. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีการเชื่อมโยงกับตลาดและฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งการส่งออกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง (การส่งออกมีสัดส่วนกว่า 50% ของ GDP ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย (คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย) 

 

ในปี 2021 สหรัฐฯ เริ่มทบทวนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง แบตเตอรี่ความจุพลังงานสูง รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แร่สำคัญ ยา และสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และในปี 2022 ได้ผ่านกฎหมาย The CHIPS and Science Act เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ส่วนหนึ่งภายใต้กฎหมายนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

 

ขณะที่จีนได้วางยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคการผลิตเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เช่น Made in China 2025 แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ 2030 (AI 2030) และกำหนด 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ 

 

นโยบายและมาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการที่สหรัฐฯ ร่วมกับประเทศพันธมิตรในการกีดกันเทคโนโลยีสำคัญจากจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่จีนก็เริ่มโต้ตอบกลับโดยการสั่งทบทวนการนำเข้าชิปจาก Micron Technology (ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ) ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งหลายประเทศกำลังเร่งออกนโยบายดึงดูดการลงทุน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยมีการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในการส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสำคัญ รวมถึงการกีดกันประเทศอื่น แนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งศึกษาและปรับตัว เพื่อช่วงชิงประโยชน์และลดผลกระทบจากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น

 

พูนพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการศึกษานี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อมูลเบื้องต้นว่าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่หลายรายพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงต่างชาติมีการโยกย้ายคำสั่งซื้อจากฐานการผลิตในจีนไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอาเซียน ตลอดจนการที่บริษัทข้ามชาติพยายามที่จะใช้ฐานการผลิตในอาเซียนทดแทนจีนในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X