หุ่นพยนต์ คือภาพยนตร์สยองขวัญจากค่าย Five Star Production ภายใต้การกำกับของ ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์คอเมดี้สยองขวัญอย่าง พี่นาค โดยครั้งนี้ไมค์ตัดสินใจหยิบเรื่องราวของหุ่นพยนต์ เครื่องรางไสยเวทย์ที่มีประวัติยาวนาน มาร้อยเรียงเข้ากับความศรัทธาของผู้คนและความสยองขวัญ
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ ธาม (ภูวิน-ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน) ชายหนุ่มที่ออกเดินทางมาพบ พระธี (ปราชญ์-ปราชญ์รวี สีเขียว) พี่ชายที่บวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งบนเกาะดอนสิงธรรม ซึ่งมีความเชื่อเรื่องหุ่นพยนต์ที่ปลุกเสกหุ่นด้วยคาถาอาคม เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อแม่ แต่เมื่อธามไปถึงพระธีกลับหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา อีกทั้งเณรและชาวบ้านยังบอกกับเขาอีกว่าพระธีคือผู้ลงมือสังหารเจ้าอาวาสวัด ธามจึงต้องออกตามหาความจริงของพี่ชาย ซึ่งนำพาเขาไปพบกับเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่มีใครคาดคิด
องค์ประกอบข้อหนึ่งของภาพยนตร์ พี่นาค ทั้ง 3 ภาค ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัวคือ แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะเน้นหนักไปในแง่ความคอเมดี้ แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็สามารถออกแบบซีนระทึกขวัญและคาแรกเตอร์ของผีพี่นาคออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งจังหวะจะโคนในการบิลด์อารมณ์ให้เราลุ้นระทึกไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคาแรกเตอร์ของผีพี่นาคที่มีทั้งความน่าสยดสยอง ขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์ เท่ และน่าเกรงขามจนเราจดจำได้เป็นอย่างดี
สลับมาที่เรื่อง หุ่นพยนต์ ผู้เขียนคิดว่าทีมสร้างยังคงรักษาเสน่ห์อันโดดเด่นจาก พี่นาค ไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการออกแบบผีหุ่นพยนต์ กับงานเมกอัพเอฟเฟกต์ที่ออกแบบบาดแผลบนร่างกายให้มีลักษณะคล้ายกับพื้นผิวของปูนปั้นที่ดูเก่าแก่ เต็มไปด้วยรอยร้าวและผุพังได้อย่างสมจริงและมีเสน่ห์ บวกกับงานโปรดักชันที่นำเสนอบรรยากาศความสยองขวัญออกมาได้น่าสนใจ ทั้งการออกแบบงานสร้าง งานภาพ จังหวะตัดต่อ ไปจนถึงดนตรีประกอบที่ปลุกเร้าอารมณ์ ซึ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงความไม่น่าไว้วางใจของสถานที่ภายในเรื่องอยู่ตลอดเวลา
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ชักชวนให้เราติดตามเรื่องราวไปได้ตั้งแต่จนจบ คือการแสดงของหนึ่งในนักแสดงนำอย่าง อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง ผู้รับบทเป็น เต๊ะ เด็กพิเศษที่อาศัยอยู่ในวัด ซึ่งอัพนำเสนอคาแรกเตอร์ของตนเองออกมาได้อย่างสมบทบาท ทั้งกิริยาท่าทาง สีหน้า น้ำเสียง ไปจนถึงมิติของตัวละครที่สนุกสนาน ใจดี และเปราะบาง ซึ่งภายใต้บรรยากาศของเรื่องที่ดูตึงเครียด ก็จะมีตัวละครอย่างเต๊ะที่เข้ามาสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้เป็นระยะๆ จนเรียกได้ว่าการแสดงของเขาคืออีกหนึ่งองค์ประกอบที่เสริมให้ตัวภาพยนตร์น่าสนใจมากขึ้นหลายเท่า
ขณะเดียวกัน ภายใต้บรรยากาศสุดสยองที่ถูกออกแบบมาได้อย่างสร้างสรรค์ มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่ทำให้ความน่าสนใจของ หุ่นพยนต์ ถูกลดทอนลงอย่างเห็นได้ชัด คือตัวบทภาพยนตร์และกลวิธีนำเสนอที่ไม่ผลักดันให้เรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า
โดยเฉพาะเส้นเรื่องของตัวละครหลักอย่างธาม ที่ต้องออกตามหาความจริงของพี่ชาย แต่ภาพยนตร์กลับไม่ได้ฉายภาพให้เราเห็นถึง ‘วิธีการสืบหาความจริง’ ของธามให้เราติดตามมากนัก อีกทั้งภาพยนตร์ยังเลือกวิธี ‘เฉลย’ ปมปัญหาต่างๆ อย่างเรียบง่าย ผ่านการพาตัวละครให้เดินไปเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าจะเป็นการให้ตัวละครแก้ไขปมปัญหาผ่านการคิดวิเคราะห์หรือคาดเดา ซึ่งจุดนี้ส่งผลให้ตัวภาพยนตร์ไม่สามารถชักชวนให้เราอยากติดตามการออกตามหาความจริงของธามอย่างที่ภาพยนตร์ตั้งใจ
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่เราแอบติดขัดเป็นการส่วนตัว คือการที่ภาพยนตร์พยายามใส่ประเด็นของตัวละครอื่นๆ เข้ามาเยอะเกินไป ทั้งประเด็นของธามที่เป็นเส้นเรื่องหลัก ประเด็นความรัก ความขัดแย้งระหว่างตัวละคร ความเชื่อความศรัทธา ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและครอบครัว ฯลฯ ดังนั้นภาพยนตร์จึงต้องแบ่งเวลาในการปูและบอกเล่าเรื่องราวในประเด็นต่างๆ ที่อยากจะเล่าเพิ่มเติมจนไปกินเวลาของเส้นเรื่องหลัก มันจึงยิ่งส่งผลให้ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์อยากนำเสนออย่างการนำความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์มาใช้เพื่อหาประโยชน์ส่วนตน กลับไม่ชัดเจนและทรงพลังอย่างที่ทีมสร้างตั้งใจ
สำหรับประเด็นที่ตัวภาพยนตร์ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้จัดฉายภาพยนตร์ในเรต ฉ 20 (ห้ามมิให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีรับชม) เนื่องจากมีเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อศีลธรรมและความสงบเรียบร้อย พร้อมให้ทีมสร้างดำเนินการแก้ไขตัดทอนเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม จนทีมสร้างต้องประกาศเลื่อนกำหนดฉาย เพื่อทำการแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสมกับเรตฉาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ่นพยนต์ ถูกจัดเรตฉาย ฉ 20 เนื่องจากมีเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อศีลธรรมและความสงบเรียบร้อย
- หุ่นพยนต์ เลื่อนฉายไม่มีกำหนด เพื่อปรับแก้เนื้อหาให้เหมาะสมกับเรต ฉ 20
ในมุมของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบสื่อมวลชนซึ่งจัดขึ้น ณ วันที่ 7 มีนาคม เราคิดว่าการพิจารณาให้ภาพยนตร์อยู่ในเรต ฉ 20 รวมถึงต้องตัดทอนเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ออกไปไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งห้ามฉาย ดูจะเป็นการตัดสินที่เกินเหตุไปจริงๆ
เพราะขณะที่ชมภาพยนตร์ ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้รู้สึกว่าผู้กำกับและทีมสร้างมีเจตนาที่ต้องการจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนา พระสงค์หรือเณรให้เกิดความเสียหาย หรืออาจบั่นทอนความมั่นคงของประเทศดังที่กล่าวหา หากแต่ฉากที่ทางคณะกรรมการฯ ตัดสินว่า ‘ไม่เหมาะสม’ เช่น ฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลืองและมีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือฉากเณรกอดผู้หญิง (ซึ่งผู้หญิงในเรื่องคือแม่ของเณร และบริบทในฉากนั้นคือการที่เณรกำลังปกป้องแม่จากเหตุการณ์บางอย่าง) ต่างก็เป็นฉากที่ทำหน้าที่ปูเรื่องราวให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักตัวละคร ทั้งลักษณะนิสัย ปมปัญหาของแต่ละคน รวมถึงการขับเน้นให้ผู้ชมเห็นถึงประเด็นสำคัญของภาพยนตร์ที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอเท่านั้น ซึ่งมันก็เป็นกลวิธีนำเสนอของภาพยนตร์ในรูปแบบหนึ่ง
อีกทั้งบทสรุปของตัวละครบางตัวก็ไม่ได้ถูกนำเสนอในเชิงของการเชื้อเชิญให้ผู้ชมดำเนินรอยตาม แต่เป็นการฉายภาพผลลัพธ์ที่ตัวละครต้องเผชิญจากการกระทำของตนเอง หรือกล่าวแบบบ้านๆ คือ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง’ เท่านั้นเอง
แล้วเอาเข้าจริงๆ หากลองเปิดดูข่าวเกี่ยวกับพระสงค์ที่ทำผิดกฎระเบียบของศาสนาซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในทุกวัน เหตุการณ์เหล่านั้นดูจะเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับศาสนามากกว่าเนื้อหาที่ปรากฏในภาพยนตร์เสียอีก
ในภาพรวมแล้ว หุ่นพยนต์ ถ่ายทอดบรรยากาศความสยองขวัญออกมาได้มีเสน่ห์ ทั้งจังหวะจะโคนในการปลุกเร้าความระทึกให้กับผู้ชม การออกแบบงานสร้าง คาแรกเตอร์ของผีหุ่นพยนต์ที่ทั้งน่าสยดสยองและเปี่ยมเสน่ห์ แต่ภาพยนตร์ก็มีข้อสังเกตในแง่ของบทภาพยนตร์ที่ดูวกไปวนมาเกินไปสักหน่อย การสืบหาความจริงของตัวละครที่ไม่ชวนให้เราอยากเอาใจช่วย รวมถึงการใส่ประเด็นของตัวละครรอบข้างเข้ามามากเกินไปจนไปบดบังและส่งผลให้ประเด็นหลักของเรื่องไม่แข็งแรงมากพออย่างที่ทีมสร้างตั้งใจ
ภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ จะแบ่งการฉายออกเป็น 2 เวอร์ชัน ได้แก่ หุ่นพยนต์ ฉบับเรต ฉ 20 (มีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชม) และ ปลุกพยนต์ ฉบับเรต น 18+ ซึ่งไม่มีการตัดเนื้อหาสำคัญของเรื่องออก และมีการเพิ่มเติมรายละเอียดของเนื้อหาเข้ามาประมาณ 4 นาที เพื่อให้เนื้อหาเข้าใจง่ายมากขึ้น โดยภาพยนตร์ทั้ง 2 เวอร์ชันเข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่:
ภาพ: Five Star Production