การเดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 12 วันของหม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน เผยให้เห็นแนวนโยบายที่แตกต่างกันของ 2 พรรคการเมืองหลักของไต้หวันที่มีต่อจีน ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปี ก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งสำคัญจะเกิดขึ้น
หม่าอิงจิ่ว จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของไต้หวัน กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนจีนว่า ผู้คนทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันล้วนเป็นชาวจีนที่มีบรรพบุรุษเดียวกัน และระบุด้วยว่า ไต้หวันที่ปกครองโดยรัฐบาลพลัดถิ่นกับจีนที่ปกครองโดยคอมมิวนิสต์เป็นประเทศเดียวกัน
ถ้อยแถลงของหม่าสะท้อนว่า ไต้หวันพร้อมญาติดีกับจีนหากพรรค KMT ของเขาได้เป็นพรรครัฐบาล ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน และพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันที่แสดงจุดยืนไม่เอาจีน และต่อต้านการรุกรานไทเปเพิ่มขึ้นของปักกิ่ง
อดีตประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางกลับถึงไทเปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (7 เมษายน) โดยในระหว่างทริปเยือนจีนนั้น เขาได้เดินทางไปแสดงความเคารพบรรพบุรุษและพบปะกับเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับมณฑล การเดินทางเยือนจีนของหม่าเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการเดินทางเยือนอเมริกากลางและสหรัฐอเมริกาของไช่ ซึ่งเธอได้เข้าพบและร่วมประชุมครั้งประวัติศาสตร์กับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมองว่า การเดินทางเยือนจีนของหม่าทำให้ท่าทีของปักกิ่งต่อไต้หวันแข็งกร้าวหนักขึ้น เพราะทำให้จีนเชื่อว่า การสนับสนุน ‘จีนเดียว’ ของหม่าเป็นข้อพิสูจน์ว่า ไต้หวันกระตือรือร้นที่จะผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายผูกมิตรกับจีนของหม่าและพรรค KMT ถูกต่อต้านจากชาวไต้หวัน ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยหลังจากที่หม่าอิงจิ่วและสีจิ้นผิงจัดการประชุมสุดยอดผู้นำไต้หวัน-จีนครั้งแรกและครั้งเดียวที่สิงคโปร์ในปี 2015 จากนั้นในอีกเพียงราว 2 เดือน ไช่อิงเหวินก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันด้วยคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรค KMT ซึ่งหลังจากไช่ได้รับตำแหน่ง จีนตัดการติดต่อกับรัฐบาลไต้หวัน ก่อนที่ในอีก 4 ปีต่อมา ไช่จะสามารถนำพรรค DPP กวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกสมัยได้อย่างถล่มทลายยิ่งกว่าเดิม
“การเดินทางเยือนจีนของหม่ากระตุ้นให้ปักกิ่งเชื่อว่า แนวทาง ‘แบ่งแยกและปกครอง’ ของพวกเขาที่มีต่อไต้หวันนั้นได้ผล” ไมเคิล ไรล์ลี อดีตเอกอัครราชทูตโดยพฤตินัยของสหราชอาณาจักรประจำไต้หวันในสมัยที่หม่าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวกับ Nikkei Asia พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ตราบใดที่ทัศนคติของจีนยังเป็นเช่นนี้ ความตึงเครียดข้ามช่องแคบก็จะยังคงอยู่ในระดับสูง”
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา บรรดาเจ้าหน้าที่ของพรรค KMT ซึ่งรวมถึงโฆษกพรรคและอดีตหัวหน้าพรรค ต่างออกมาแสดงความเห็นปกป้องและแก้ต่างให้กับหม่าอิงจิ่ว โดยกล่าวว่า หม่าเรียกไต้หวันว่า ‘สาธารณรัฐจีน’ หรือ Republic of China ซึ่งเป็นชื่อทางการของไต้หวัน ทั้งยังหยิบยกรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีนขึ้นมาพูดถึงในระหว่างการบรรยายแก่อาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยหูหนาน
“ประเทศของเราแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนปี 1997 ตามบทนิยามของเรา ประเทศแบ่งออกเป็นไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน” หม่ากล่าวในการบรรยาย
นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางเคารพสุสานซุนยัตเซ็น ณ เมืองหนานจิง หม่าอิงจิ่วกล่าวว่า “ผู้คนทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันคือชาวจีน และล้วนเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิหยานและจักรพรรดิเหลือง” โดยหม่าได้ใช้ถ้อยคำในภาษาจีนที่สื่อถึง ‘เชื้อชาติจีน’ มากกว่าที่กล่าวถึง ‘สัญชาติ’ ส่วนสำนวนที่ว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายจากจักรพรรดินั้นก็สื่อถึงว่าชาวจีนมีบรรพบุรุษร่วมกัน
หม่าเกิดในฮ่องกง และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาฮาร์วาร์ด เขาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีกรุงไทเป ก่อนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในระหว่างปี 2008-2016
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเยือนจีนและความพยายามของหม่าที่จะรื้อฟื้นนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมในสมัยที่พรรคของเขาเป็นรัฐบาลนั้น อาจส่งผลกระทบสะท้อนกลับต่อชื่อเสียงและคะแนนนิยมของพรรค KMT โดยเฉพาะเมื่อผลสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าตนเป็นคนจีน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า จุดยืนของหม่าขัดแย้งอย่างมากกับชาวไต้หวัน ซึ่งมองว่าการเดินทางเยือนจีนและสิ่งที่เขาพูดในระหว่างเยือนจีนนั้นนอกเรื่อง และไม่ได้ช่วยลดความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวันแต่อย่างใด โดยจีนยังคงจัดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเป็นเวลา 3 วัน
อิวาน คานาพาที อดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ประจำจีน กล่าวว่า “พรรค KMT จะต้องหลีกเลี่ยงนโยบายข้ามช่องแคบของหม่าหากต้องการได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไต้หวันในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาว”
การเดินทางเยือนจีนของหม่าแทบไม่ได้รับการสนับสนุนหรือตอบรับในไต้หวัน ขณะที่มีประชาชนบางส่วนไปชุมนุมประท้วงที่สนามบินในไทเปในวันที่หม่าออกเดินทาง เนื่องจากมองว่าทริปการเดินทางเยือนของอดีตผู้นำถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าเขาเลือกอยู่ข้างจีน
“แม้สำนักงานของเขาจะบอกว่าเป็นการเยือนส่วนตัว แต่หม่าก็พยายามใช้การเดินทางครั้งนี้เพื่อนำเสนอว่า พรรค KMT เป็นฝ่ายที่พยายามช่วยลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน” ซานา ฮัชมี นักวิจัยหลังปริญญาเอกของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน-เอเชีย ซึ่งเป็นหน่วยคลังสมองในไทเป กล่าวกับ Nikkei Asia “แต่ความจริงแล้วหม่าล้มเหลว เนื่องจากจีนยังคงคุกคามไต้หวันด้วยการส่งเครื่องบินรบ เรือ และเรือบรรทุกเครื่อง บินเข้าใกล้น่านน้ำของไต้หวัน ทั้งในระหว่างและหลังการเยือนของเขา”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของไต้หวันและจีนเติบโตใกล้ชิดกันมากขึ้นในสมัยที่พรรค KMT เป็นรัฐบาล โดยหม่าได้เจรจาข้อตกลงการค้ากับปักกิ่งในปี 2014 ซึ่งก่อให้เกิดกระแสสังคมขนาดใหญ่ที่เรียกว่าขบวนการทานตะวัน (Sunflower Movement) โดยนักเรียน นักศึกษา และประชาชน รวมตัวประท้วงเพื่อต่อต้านการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างจีนและไต้หวัน การประท้วงดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนในไต้หวัน และปูทางไปสู่การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรค DPP ในอีก 2 ปีต่อมา
หม่ากล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับถึงไต้หวันว่า “ฉันทามติ 1992 กลับมามีชีวิตอีกครั้ง!” โดยเขาหมายถึงสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลก๊กมินตั๋งกับจีนในขณะนั้นที่ระบุว่า ไต้หวันและจีนเป็นของ ‘จีนเดียว’
นักวิจารณ์ระบุว่า การเมืองจีนเดียวของหม่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่เหลือของยุคเจียงไคเช็ก ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน โดยที่หม่าไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันไต้หวันเป็นประชาธิปไตยและพัฒนาไปสู่ระบบการปกครองที่แตกต่างและก้าวหน้ามากกว่าสมัยเจียงไคเช็กไกลโขแล้ว
ภาพ: AFP
อ้างอิง: