×

พระเนติวิทย์ หลีกเลี่ยง-ขัดขืน ไม่มาเกณฑ์ทหาร โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร ม.27 ส่งนายอำเภอ ร้องทุกข์กล่าวโทษ

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2023
  • LOADING...
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

วันนี้ (9 เมษายน) รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีพระจรณสมฺปนฺโน หรือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2566 หรือจับใบดำ-ใบแดง ที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ สื่อมวลชนได้ทราบข่าวจากแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ของพระเนติวิทย์ มีเนื้อหาสรุปว่า 

 

เนื่องจากพระเนติวิทย์มีกิจธุระเนื่องด้วยการสอบพระบาลีประโยค 1-3 ผ่านวิชาแปล แต่ไม่ผ่านวิชาไวยากรณ์ และจะเข้าสอบซ่อมในวันที่ 15-16 เมษายน 2566 จึงขอเวลาทำกิจนี้ให้สำเร็จก่อน และขอเวลาเตรียมตัวเพื่อลาสิกขาภายในสิ้นเดือนเมษายน 2566 

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ระบุว่า หากพระเนติวิทย์ไม่เดินทางมาวันนี้ก็จะส่งต่อให้นายอำเภอ ในฐานะเป็นผู้ออกหมายเรียก ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือมอบหมายให้ผู้แทนไปดำเนินการ

 

กรณีถ้ารับหมายเรียกแล้วไม่มา การพิจารณาพิพากษาก็อยู่ที่ศาล ศาลอาจจะตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา หรือตัดสินจำคุกแล้วรอลงอาญา ก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาล กรณีของพระเนติวิทย์ผิดแน่นอน เนื่องจากว่ารับหมายเรียกแล้วไม่มา มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27 ระบุว่า ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกฯ ทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประจำตัวประชาชน และประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย ถ้าไม่มาหรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือกหรือว่าไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ ให้ถือว่าทหารกองเกินนั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกฯ ทำการตรวจเลือก เว้นแต่

 

  1. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง

 

  1. นักเรียนซึ่งออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

  1. ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการหรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรับหรือการสงครามอันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงคราม และอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม

 

  1. บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม

 

  1. เกิดจากเหตุสุดวิสัย

 

  1. ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น

 

  1. ป่วยไม่สามารถจะมาได้ โดยให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ในวันตรวจเลือก

 

ส่วนกรณีที่ไม่ได้รับหมายเรียก จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กรณีของพระเนติวิทย์มีการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารมาแล้ว เพราะฉะนั้นการผ่อนผันก็จะมอบหมายเรียกในปีถัดไปให้ในวันที่เกณฑ์ทหาร เพราะในกฎหมายมีอยู่แล้ว หมายเรียกที่รับไปก็มีรายละเอียดระบุวัน เวลา สถานที่ตรวจเลือกให้มารายงานตัว ถ้าไม่มาก็มีคำเตือนรวมถึงโทษระบุไว้ชัดเจน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่บวชเป็นพระมีการเรียนเปรียญธรรมเก้าประโยค หรือเรียนนักธรรม แล้วสามารถนำมาเป็นข้อยกเว้น และต้องมีการแจ้งทางสัสดีก่อนล่วงหน้าที่จะมีการตรวจเลือกทหารใช่หรือไม่

 

แหล่งข่าวใน นรด. ระบุว่า ใช่ การบวชไม่สามารถนำมากล่าวอ้างไม่มาเกณฑ์ทหาร การเป็นนักธรรมมีสิทธิได้รับการยกเว้นตามกฎหมายก็จริง แต่กรณีที่ว่าได้เปรียญเท่าไรยังไม่อยู่ในข่าย เพราะฉะนั้นถ้าหากเป็นเช่นนี้ชายไทยก็ต้องอ้างกันทุกคน บวชแล้วก็ไม่มา 

 

“ถ้าจะอ้างเป็นนักธรรม ไม่เช่นนั้นคนก็ไปบวชหาทางหลีกเลี่ยงกันหมด ซึ่งก็มีกำหนดอยู่ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่น อย่างโต๊ะอิหม่ามก็จะมีการยกเว้น หรือนักบวชตามศาสนาคริสต์ ถ้าเป็นพระก็ต้องดูว่าอยู่ระดับไหนถึงได้รับการยกเว้น หากบวชเป็นพระทั่วไปคนก็จะไปบวชแล้วก็เอามาอ้างกัน เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงได้” แหล่งข่าวกล่าว

 

สำหรับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ มีดังต่อไปนี้

 

  1. พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หมายถึงยศของพระ เช่น เป็นพระครู พระชั้นเทพ หรือชั้นธรรม เป็นต้น

 

ส่วนตำแหน่งของพระ เช่น เป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ อย่างนี้เป็นตำแหน่งไม่ใช่สมณศักดิ์ จึงไม่ได้รับการยกเว้น พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์อาจไม่มีตำแหน่งก็ได้ พระภิกษุที่เป็นเปรียญหมายถึงการศึกษาของพระ เช่น เป็นเปรียญตั้งแต่ 3 ประโยคถึง 9 ประโยค

 

นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์นั้น หมายถึงผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ต่างกันที่ถือตามนิกายของจีนกับของญวน

 

นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนต้องมีสมณศักดิ์ด้วยจึงได้รับการยกเว้น

 

  1. คนพิการทุพพลภาพซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ พระภิกษุสามเณรที่เป็นนักธรรม พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักธรรมหมายถึงผู้ที่จบนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก เมื่อยื่นเรื่องขอยกเว้นและได้รับการยกเว้น ไม่ต้องไปแสดงตนเข้ารับการตรวจเลือก

 

ถ้ายื่นไม่ทันก่อนการตรวจเลือก จะนำหลักฐานไปยื่นขอรับการยกเว้นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ในวันทำการตรวจเลือกก็ได้ โดยหลักฐานที่ต้องนำไปยื่นต่อนายอำเภอเพื่อขอยกเว้น ได้แก่ 

 

  1. ประกาศนียบัตรจบนักธรรม
  2. ใบสำคัญแบบ สด.9
  3. หมายเรียกแบบ สด.35
  4. หนังสือรับรองของเจ้าอาวาส
  5. หนังสือสุทธิ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X