กำลังคึกคักกันเลยทีเดียวในแวดวงการเมืองกับโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบวัน
ทุกพรรคการเมืองต่างเดินสายเปิดเวทีปราศรัยประชันขันแข่งเสนอนโยบาย เสนอทางเลือก ทางออกในการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ให้กับประชาชน เวียนกันไปทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างครึกครื้น
พวกเราในฐานะประชาชนต่างก็รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และแน่นอนคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญ
นโยบายจำนวนมากที่พรรคการเมืองต่างนำเสนอออกมาให้กับประชาชนได้พิจารณานั้น ต่างก็มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบการศึกษา การกระจายอำนาจ รวมถึงการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน
แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจ แต่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยเห็นพรรคไหนกล่าวถึง หรือแม้กระทั่งจากพรรคการเมืองที่เราเห็นว่ามีแนวคิดที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าก็ยังไม่เห็นข้อเสนอในเรื่องนี้เช่นกัน คือ ‘นโยบายด้านศาสนา’ ทั้งที่เรื่องนี้สำคัญและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต วิธีคิด รวมถึงอาจจะเป็นข้อจำกัดที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองในด้านต่างๆ ด้วย รวมถึงเป็นข้อกำกับ และจำกัดสิทธิในการทำมาหากินของประชาชนด้วย
ยกตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ภาพยนตร์ของ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับชื่อดังผู้สร้างตำนานภาพยนตร์สยองขวัญของไทยหลายเรื่อง ฉากสำคัญในภาพยนตร์หลายฉากถูกตัดออกด้วยเหตุผลที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางศาสนา เช่น ฉากเณรต่อยกันในผ้าเหลืองและใช้คำหยาบคาย ฉากเณรกอดผู้หญิง ฉากท่องศีลข้อ 2 ขณะที่กำลังฆ่าคนที่ขโมยของ และหลายต่อหลายฉากมีภาพพระสงฆ์ สามเณรที่ไม่โกนคิ้ว โดยกองเซ็นเซอร์ให้เหตุผลว่าฉากต่างๆ เหล่านี้ ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี’ ของบ้านเมือง จึงพิจารณาให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในเรต ฉ20- หรือห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม และต้องมีการตรวจบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่จะเข้าชมหน้าโรงภาพยนตร์ด้วย
แน่นอนหลายคนอาจจะมองว่าปัญหาหลักอยู่ที่กองเซ็นเซอร์ และอาจจะคิดว่าหากเราไม่มีกองเซ็นเซอร์ก็จะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้มีแค่กองเซ็นเซอร์เท่านั้น เรายังมีหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้น โดยมีพื้นฐานสำนึกผิด-ชอบ ชั่ว-ดี จากฐานคิดที่ได้รับอิทธิพลจากวิธีคิดทางศาสนา และแน่นอนว่าหน่วยงานเหล่านี้ต่างมีผลกระทบต่อการกำกับและจำกัดสิทธิในการทำมาหากินของประชาชน ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในหลายช่องทาง
เรื่องบ่อนเสรีและเรื่องสุราเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกกำหนดและจำกัดโอกาสการสร้างรายได้จากวิธีคิดทางศาสนา นโยบายบ่อนเสรีมีให้เราเห็นหลายต่อหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดแนวคิดที่จะเปิดสถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร (Entertainment Complex) หรือในปี 2551 สมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ก็ประกาศว่าหากอยู่ครบ 4 ปีรับรองคนไทยได้เห็นบ่อนเสรีแน่ หรือในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 ก็มีการเสนอแนวคิดบ่อนเสรีเช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จัดเก็บรายได้จากคาสิโนถูกกฎหมายเข้ารัฐ สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงเพื่อป้องกันการลักลอบเปิดคาสิโนผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็เห็นข่าวเรื่องบ่อนเถื่อนกันอยู่ประจำ
แต่ทั้งนี้แนวคิดเหล่านี้ก็ถูกคัดค้านและตีตกมาโดยตลอดด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งมองว่าจะทำให้คนไทยเสพติดการพนันเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นการสร้างแหล่งซ่องสุมอบายมุขและยาเสพติด และเหตุผลสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งเลยคือมองว่า ‘ขัดต่อหลักปฏิบัติของศาสนาและศีลธรรมทางศาสนา’
ดังกรณีของ จำลอง ศรีเมือง นักการเมืองและแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีช่อง ASTV ว่า “นโยบายบ่อนเสรีได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการพนันเป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งความพินาศ และทุกศาสนาต่อต้านเรื่องนี้” นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้รัฐเสียโอกาส
เรื่องสุราก็ถูกกำกับและจำกัดด้วยหลักการทางศีลธรรมทางศาสนาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการจำหน่ายและการโฆษณา เช่น การกำหนดวันและเวลาจำหน่าย ห้ามขายในวันหยุดสำคัญทางศาสนา หรือขายสุราได้เพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่รัฐกำหนดเท่านั้น การกำหนดการโฆษณาหรือเชิญชวนให้คนดื่มสุรา เช่น ห้ามโฆษณาภาพที่มีคำเชิญชวนให้มีการบริโภคสุรา ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายสุราพร้อมกับการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากดื่มสุรา เป็นต้น ซึ่งหากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกและปรับเป็นเงินสูงกว่า 500,000 บาท แม้ในภาคประชาชนจะมีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายการคุมควบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้
การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การต่อต้านการเปิดบ่อนเสรี การกำหนดและจำกัดการจำหน่าย และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียง 3 ตัวอย่างสำคัญเท่านั้นที่ทำให้เห็นว่า วิธีคิดที่มีฐานคิดจากศีลธรรมทางศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพลต่อโอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ปิดกั้นช่องทางการทำมาหากินของประชาชน
แต่สิ่งที่เราเห็นจากนโยบายของหลายๆ พรรคการเมือง กลับพบว่ายังไม่เห็นพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายพุ่งตรงไปที่ตัวของศาสนาเลย ทั้งที่ถือว่าเป็นแกนกลางสำคัญที่ทำให้ประเทศเสียโอกาส เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการจำกัดการทำมาหากินของประชาชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองที่มีแนวคิดก้าวหน้า มีแนวคิดทลายโครงสร้างสังคมที่จะเป็นอุปสรรคต่ออนาคตและการเจริญเติบโตของประเทศ เช่น ประกาศยกเลิก-แก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ที่เป็นโครงสร้างอำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับมองข้ามโครงสร้างปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและตัวองค์กรทางศาสนาเอง
หรือเพราะหลักคิดทางศาสนาหรืออิทธิพลทางศาสนาอีกด้วยหรือไม่ ที่ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคการเมือง แม้แต่พรรคที่เน้นย้ำเรื่องการทลายโครงสร้างกลับไม่สามารถ (กล้าพอ) ที่จะออกนโยบายในการกำกับหรือจัดการกับอิทธิพลทางศาสนาโดยตรง หรือเพราะนโยบายที่จะพุ่งตรงไปที่หลักการหรือองค์กรทางศาสนาสุ่มเสี่ยงต่อความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองหรือไม่ จึงทำให้ไม่มีใครกล้าพอที่จะเสนอนโยบายเหล่านี้ออกมา