เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 เมษายน) สิงคโปร์และจีนประกาศยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเปิดบทใหม่ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
จาก ‘หุ้นส่วนความร่วมมือรอบด้านที่พัฒนาตามกาลเวลา’ (All-Round Cooperative Partnership Progressing with the Times) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเดินทางเยือนสิงคโปร์ ได้พัฒนาเป็น ‘หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่ออนาคตคุณภาพสูงรอบด้าน’ (All-Round High-Quality Future-Oriented Partnership) ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเห็นความสัมพันธ์ดำเนินไป
นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง และนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีน ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามสนธิสัญญาฉบับใหม่หลายฉบับ ซึ่งปูทางไปสู่การยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายใต้นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ไปจนถึงความปลอดภัยด้านอาหาร การค้า ตลอดจนการวิจัยด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านการนำศิลปินจีนไปเยือนสิงคโปร์มากขึ้น ขณะที่ศิลปินสิงคโปร์ก็จะไปเยือนจีนมากขึ้นเช่นกัน
แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้สรุปการเจรจาเพื่อยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีจีน-สิงคโปร์ (CSFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มานาน 14 ปี ข้อตกลงที่ได้รับการยกระดับจะสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตร เสรี และโปร่งใสต่อธุรกิจมากขึ้น โดยจะมีการลงนามข้อตกลงในปีนี้ ก่อนที่จะรับรองสัตยาบันและมีผลบังคับใช้ในลำดับต่อไป
ขณะที่แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุถึงความสำคัญของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Council for Bilateral Cooperation) ในฐานะที่เป็นเวทีเจรจาระดับสูงสุด และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีที่มีคุณภาพสูงและมุ่งเน้นอนาคต
ทั้งนี้ สิงคโปร์และจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 1990 ก่อนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ดังที่กล่าวมา ซึ่งต่อไปนี้คือขอบข่ายความร่วมมือที่ได้รับการยกระดับขึ้น
บริการโทรคมนาคม: มีการเพิ่มหมวดบริการโทรคมนาคม (Telecommunications Services Chapter) ในข้อตกลง CSFTA เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนและผู้ให้บริการโทรคมนาคมในสิงคโปร์และจีนสามารถเข้าถึงตลาดของกันและกันได้มากขึ้น โดยจะมีการลงนามในปลายปีนี้
ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร: สิงคโปร์และจีนตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายและกรอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกระชับความร่วมมือด้านการค้าอาหาร โดยจะมีการจัดการประชุมระดับสูงในด้านความปลอดภัยและการค้าอาหารต่อไป
กรอบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI): ศาลสูงสุดของสิงคโปร์และจีนจะพัฒนาและปฏิบัติตามกรอบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้ BRI ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศที่เป็นลายเซ็นของประธานาธิบดีสี โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงจีนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
น้ำและสิ่งแวดล้อม: มูลนิธิวิจัยแห่งชาติของสิงคโปร์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน จะร่วมกันสนับสนุนโครงการหลักสองโครงการในด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละโครงการ มูลนิธิจะให้ทุนวิจัยสูงสุด 3 ล้านดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 3 ปีแก่นักวิจัยสิงคโปร์ ในขณะที่กระทรวงจะสนับสนุนทุนวิจัยในจำนวนเทียบเท่ากันสูงสุด 14 ล้านหยวน (2.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ในช่วง 3 ปีแก่นักวิจัยจีน
ศิลปะและวัฒนธรรม: สภาศิลปะแห่งชาติของสิงคโปร์ และกองทุนศิลปะแห่งชาติจีน จะเปิดโอกาสให้ศิลปินจากทั้งสองประเทศได้พำนักอาศัย จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปและมาสเตอร์คลาส รวมถึงการแลกเปลี่ยนอื่นๆ ในสิงคโปร์หรือจีน ทั้งยังจะได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกัน และสร้างผลงานที่สามารถจัดแสดงในประเทศจีน สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นๆ
การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน: คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติของสิงคโปร์ และสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติของจีนจะดำเนินโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนเพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลน และลดแรงกดดันจากการขยายตัวของเมือง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ อย่างยั่งยืน
การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน: สถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำกรุงปักกิ่ง และเทศบาลนครปักกิ่ง จะสำรวจแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา ฯลฯ
แฟ้มภาพ ปี 2019: Madoka Ikegami / Pool / Getty Images
อ้างอิง: