From the Cover
นิตยสาร Wired ฉบับมีนาคม 2561 ‘Move Fast’ โดดเด่นด้วยภาพปกรูป มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผลงานของ Jake Rowland ศิลปินชาวนิวยอร์กที่โด่งดังด้านการถ่ายภาพและรีทัช ซึ่งมีผลงานประจำบนนิตยสาร Wired, Bloomberg และ Time
ภาพ: นิทรรศการ Reflections: Constructed Portraits 2004-2014 ของ Jake Rowland จาก jakerowland.com
Jake ได้รับโจทย์จากกองบรรณาธิการ Wired ให้สร้างภาพซักเคอร์เบิร์กที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากการต่อสู้ที่ยากลำบากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของ Facebook เพื่อให้เข้ากับคอลัมน์หลักภายในเล่ม
หากมองผ่านๆ เราอาจคิดว่าเป็นภาพถ่ายของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กจริงๆ ที่ถูกตกแต่ง หรือเป็นภาพวาดที่วาดขึ้นมาใหม่เลย แต่กระบวนการทำปกนี้กลับซับซ้อนกว่านั้น
Wired ต้องการภาพวาดของซักเคอร์เบิร์กที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์
เทคนิคพิเศษของ Jake Rowland ที่ใช้กับปกนี้นั้นมีความน่าสนใจ เขาใช้วิธีนำภาพทั้งหมด 4 ภาพ มาประกอบและวาดรีทัชทับเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ภาพถ่ายจริงของซักเคอร์เบิร์ก, ภาพของนายแบบที่ถ่ายขึ้นใหม่ให้ดูมีแผลฟกช้ำ และภาพ Stock Photo อีก 2 ภาพ จนออกมาเป็นภาพ Digital Collage ที่ผสมผสานความจริงกับเรื่องแต่งเข้าด้วยกันแล้วแสดงออกมาผ่านทางสีหน้าของซักเคอร์เบิร์กบนปก
ซึ่งการเลือกวิธีสร้างปกจากการผสมผสานระหว่างความจริงกับเรื่องแต่งนี้เป็นไอเดียที่ Jake Rowland คิดว่ามันค่อนข้างเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังตรงกับความต้องการของ นิโคลัส ทอมป์สัน (Nicholas Thompson – บรรณาธิการ) ที่ต้องการให้ภาพของปกเชื่อมโยงกับเนื้อหาภายในตัวเล่ม
“เรื่องของข้อมูลและภาพต่างๆ บนโซเชียลมีเดียที่ล้วนแล้วแต่แยกความจริงกับเรื่องโกหกได้ยาก ในบางครั้งยังชักนำเราในทางการเมือง ด้วยความเร็วและข้อมูลมหาศาลที่ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะการรับรู้ได้อย่างมีสติ” จึงกลายเป็นไอเดียหลักที่มาของปกที่ผ่านการคิดอย่างซับซ้อน
Inside the Article
ภายในเล่ม Wired ฉบับนี้ได้นำเสนอไทม์ไลน์ที่ Facebook โดนโจมตีอย่างหนักจากสื่อและผู้มีอิทธิพล ซึ่งได้สร้างบาดแผลให้กับซักเคอร์เบิร์กตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่หลายของ Fake News ที่เกิดขึ้นและควบคุมไม่ได้ หรือแม้แต่การคัดเลือกเนื้อหาบางส่วนที่ไม่สมควรทำ เริ่มตั้งแต่มีนาคม ปี 2016 ที่ Facebook โดน Gizmodo แฉว่าใช้พนักงานในการคัดเลือกข่าวขึ้นมาแสดงบน News Feed เพื่อทดสอบอัลกอริทึมในส่วนของ Trending News โดยมีการสัมภาษณ์พนักงานที่เซ็นสัญญารับผิดชอบในส่วนของการคัดเลือกข่าวนี้หลายคน รวมถึงผู้ดูแลหลักๆ อย่าง Benjamin Fearnow
อ่านบทความนี้ของ Gizmodo ได้ที่ gizmodo.com/want-to-know-what-facebook-really-thinks-of-journalists-1773916117
แม้ Facebook จะออกแถลงการณ์ว่าการคัดเลือกข่าวใน Trending News หรือ Trending Topics ไม่ได้มีการโน้มเอียงหรือชี้นำทางการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการควบคุมเนื้อหาของ Facebook หรืออัลกอริทึมต่างๆ ในการ Feed บทความก็ยังไม่เป็นที่โปร่งใสและพิสูจน์ได้
ไล่ไปในปีเดียวกัน เดือนกรกฎาคม 2016 Rupert Murdoch เองก็ยังออกมาให้ข่าวว่า Facebook กำลังจะทำให้วงการข่าวเกิดปัญหาและหายนะ จนไปถึงปลายปี 2016 ที่ซักเคอร์เบิร์กให้ความเห็นเรื่องที่มีคนคิดว่าข่าวปลอมทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะว่า ‘pretty crazy’
ซึ่งตัวบทความไม่ได้เล่าถึงแค่การโดนโจมตีเท่านั้น แต่ยังได้เล่าถึงการประกาศสงครามและการโจมตีกลับ ‘Fake News’ ไล่ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2016 เป็นต้นมา จนมาถึงคำถามปัจจุบันที่ว่า แล้ว Facebook จะต้องวางตัวอย่างไรในฐานะแพลตฟอร์มทั่วไปที่มีอิสระเสรี หรือในฐานะ Publisher ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ มากขึ้นกันแน่
อ่านบทความฉบับออนไลน์ของ Wired เดือนมีนาคมนี้ได้ที่: www.wired.com/story/inside-facebook-mark-zuckerberg-2-years-of-hell/?mbid=BottomRelatedStories
อ้างอิง:
- นิตยสาร Wired ก่อตั้งเมื่อปี 1993 เป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโลก การเมือง และนวัตกรรมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ด้วยบทความเชิงวิเคราะห์ และอินโฟกราฟิกที่จัดจ้านและโดดเด่นด้านการออกแบบ ได้รับรางวัลชนะเลิศ National Magazine Award for General Excellence and once for Design ในปี 1994 และ 1997