×

นักเศรษฐศาสตร์ตั้งความหวังกับ ‘ภาคท่องเที่ยว’ เชื่อ GDP ไทยปีนี้โตราว 3.4% จับตานานาความเสี่ยง

22.03.2023
  • LOADING...

เปิดมุมมอง 3 นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินชั้นนำ ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.4% โดยฝากความหวังไว้กับภาคการท่องเที่ยว ท่ามกลางความเสี่ยงรุมเร้า เช่น การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงิน

 

วันนี้ (22 มีนาคม) ในงาน TEA Annual Forum 2023 ซึ่ง ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 3.4% จากปีก่อนหน้า โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญ พร้อมทั้งแนะไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ GIFE เป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (Gulf: G) ซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างมากจากอานิสงส์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเมื่อปีก่อน รวมไปถึงอินเดีย (India: I) และตะวันออกไกล (Far East: FE) ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและมีกำลังซื้อ

 

สอดคล้องกับ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตราว 3.4% เช่นกัน โดยระบุว่าแม้ตัวเลขนี้จะดูดีและโตกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศอื่นแทบไม่โตหรือติดลบ แต่จริงๆ แล้วตัวเลขที่ดูดีนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานในปีก่อนที่ต่ำ

 

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ดร.อมรเทพมองว่าท่องเที่ยวจะเป็นแรงหนุนการบริโภคในประเทศให้เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญในปีนี้ด้วย แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงิน ที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยทำให้เติบโตต่ำ 

 

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพยังเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันการใช้จ่ายโดยเฉพาะระดับฐานราก และดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงขยับขึ้น โดยคาดว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดของไทยน่าจะอยู่ที่ 1.75%

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความชัดเจนว่าจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว โดยน่าจะขยายตัวราว 3.5% บวกลบ โดยปีนี้น่าจะเป็นปีแรกที่ GDP ของประเทศฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด หรือปี 2019 โดยมีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญ

 

ดร.พิพัฒน์ยังชี้ว่ามี 3 ประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

 

  1. การฟื้นตัวที่ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังคงมีหลายภาคส่วนที่ยังเจอปัญหาอยู่ เช่น SMEs และครัวเรือนที่รายได้ยังไม่กลับมา
  2. การฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม เนื่องจากแม้ภาคบริการจะกลับมาดีขึ้นในปีนี้ แต่ภาคส่วนอื่นๆ ยังได้รับผลกระทบอยู่ เช่น ภาคส่งออก และภาคการผลิต รายได้จากภาคท่องเที่ยวก็กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัด ดังนั้นกว่าที่รายได้จากการท่องเที่ยวจะกระจายตัวไปส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง 
  3. การฟื้นตัวที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ส่งออกอาจได้รับผลกระทบหนักกว่าคาด ท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่คาด ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสชะลอตัว เงินเฟ้อ และปัญหาภาคธนาคาร

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เดิมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกินระดับ 2% เล็กน้อย แต่ปัจจุบันที่เห็นสัญญาณความเสี่ยงและความท้าทายเยอะขึ้น Terminal Rate ของไทยตอนนี้จึงอาจอยู่ใกล้ๆ 2% ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเงินเฟ้อ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X