วันนี้ (22 มีนาคม) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แกนนำราษฎรและเครือข่ายจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และอ่านแถลงการณ์ต่อการยุบสภาและการเลือกตั้ง พร้อมเปิดตัวแคมเปญ ‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’ สำหรับการเลือกตั้ง 2566 เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องทางการเมือง
โดยในแถลงการณ์มีใจความว่า สืบเนื่องจากการยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 สัญญาณสำคัญในการสิ้นสุดยุคสมัยที่เลวร้ายได้ปรากฏขึ้นแล้ว อำนาจในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง ได้กลับมาสู่มือของประชาชนอีกครั้ง
ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ประชาชนต้องเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงจากการปกครองโดยรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจผ่านกลไกเผด็จการตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อต่อกรกับการปกครองดังกล่าว ตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อ เคลื่อนไหว เรียกร้อง และต่อสู้ โดยประกาศเจตจำนงอันเป็นฉันทามติร่วมกันของฝ่ายประชาชน ได้แก่
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก
- การร่างรัฐธรรมนูญใหม่
- การปฏิรูปสถาบันฯ
ขณะนี้แม้วาระของรัฐสภาและรัฐบาลจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ขอประชาชนจงอย่าได้วางใจ เนื่องจากกลไกในการรักษาและสืบทอดอำนาจให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญผ่านสถาบันต่างๆ เป็นต้นว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก, การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงต้องดำเนินต่อไป การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นหมุดหมายสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องยึดกุม และประกาศชัยชนะอย่างท้วมท้นเหนือฝ่ายเผด็จการ เพื่อให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมากและร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างในทุกองคาพยพได้อย่างแท้จริง
ในการนี้ เพื่อการเลือกตั้งในฐานะปฏิบัติการร่วมทางการเมือง กลุ่มราษฎรขอเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ ‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’ (Vote for Change) เพื่อการร่วมมือกันของฝ่ายประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 3 ข้อ ที่เป็นทั้งจุดยืนและลำดับข้อเรียกร้อง ได้แก่
การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์เจตจำนงในการเลือกผู้แทนราษฎรผ่านกิจกรรมจับตาเลือกตั้ง สอดส่องการหาเสียงของบรรดาผู้สมัคร กดดันและจับตาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ให้อยู่บนหลักของความบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม
การเลือกต้ังที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะไปด้วยกัน ขอเชิญชวนและเรียกร้องต่อประชาชนและบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้งปวง ให้เดินหน้าร่วมกันเอาชนะฝ่ายเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง และผนึกกำลังพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล
การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างแท้จริง ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของฝ่ายประชาธิปไตย รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าสู่การปฏิรูปในทุกองคาพยพ ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่