บอร์ด BOI ทิ้งทวนรัฐบาล! ขยายขอบเขตกลุ่มนักลงทุนขอ LTR Visa เน้นความเชี่ยวชาญพิเศษ 15 สาขา ไม่จำกัดแค่ S-Curve หวังเป็นแม็กเน็ตดูดคนเก่ง AI การเงิน และการตลาด เข้าประเทศ สอดรับบิ๊กคอร์ปย้ายฐานผลิตในไทย เผยอเมริกัน-จีนยื่นขอมากสุด คาดสิ้นปีทะลุ 9,000 คน พร้อมไฟเขียวลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท เน้นด้านพลังงานและดิจิทัล ลั่นนักลงทุนไม่สนยุบสภา
วันนี้ (20 มีนาคม) นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในการปรับปรุงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เพื่อให้การดึงดูดผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการรับรองคุณสมบัติมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
โดย BOI ได้เสนอให้เพิ่มเติมและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรับรองคุณสมบัติแก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน (Highly Skilled Professional) รวม 15 สาขา ดังต่อไปนี้
- อุตสาหกรรมยานยนต์
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ
- อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
- อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
- อุตสาหกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมการแพทย์
- อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
- อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC)
- อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น นักวิจัยในสาขาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดิจิทัล การเงิน สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ รวมทั้งองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
เสริมแกร่งดิจิทัลฮับ-ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาทดันบิ๊กโปรเจกต์
โดยการเพิ่มและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ LTR Visa ในครั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และทักษะความเชี่ยวชาญในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศยังขาดแคลน โดยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงกลุ่มนี้ สามารถได้รับ LTR Visa เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย จะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของไทยได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติมายื่นขอ LTR Visa แล้วกว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน จีน และยุโรป
“ดังนั้นเมื่อขยายขอบเขตไปหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่จำกัดแค่ S-Curve จะทำให้เราได้คนเก่งทางด้านการเงิน การตลาด AI ดิจิทัล จะเป็นแม็กเน็ตใหม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และธุรกิจรายใหญ่โยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นดิจิทัลฮับของประเทศไทยด้วย ซึ่งไทยต้องการคนเหล่านี้มาก คาดว่าอีก 6 เดือนนับจากนี้ จะมีผู้มายื่นขอ LTR Visa เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 9,000 คน”
นอกจากนี้ บอร์ดยังอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 56,615 ล้านบาท เช่น โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าเงินลงทุน 32,710 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 5,005 ล้านบาท รวมถึงกิจการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และจะใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์
อีกทั้งยังมีโครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8,500 ล้านบาท
นฤตม์กล่าวว่า การลงทุนระยะนี้ยังพบว่าเอกชนสนใจตั้งสำนักงานภูมิภาค ดังนั้น BOI จึงร่วมกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการระบบ HQ Biz Portal ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และระบบนัดหมายออนไลน์ รวมทั้งได้จัดตั้งทีมงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย
สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนกิจการสำนักงานภูมิภาคตั้งแต่ปี 2543 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกว่า 500 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมสูงสุด 40% รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ในช่วงวันที่ 3-7 เมษายน 2566 BOI จะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามาลงทุนในไทย จากนั้นเดือนมิถุนายน 2566 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีน ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีนักธุรกิจจีนทั้งที่ลงทุนในประเทศไทยและลงทุนในประเทศอื่นๆ เดินทางมาร่วมประชุมมากกว่า 4,000 คน” นฤตม์กล่าว
ยุบสภา! ไม่ทำให้นักลงทุนชะลอแผน
นฤตม์กล่าวอีกว่า หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาไปเมื่อช่วงเวลา 15.00 น. วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น มั่นใจว่าสถานการณ์การเมืองของไทยในครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ติดตามเรื่องการเมือง และรับทราบมาโดยตลอดว่าไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยช่วงรัฐบาลรักษาการนี้ ทุกอย่างจะยังคงดำเนินได้ตามปกติ
ทั้งการอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมไว้ การเดินสายพบนักลงทุนทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค การโรดโชว์ต่างประเทศที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ประเทศจีน การทำโปรโมชัน รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมด
“การที่ BOI ได้ประกาศนโยบายใหม่เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มันก็ชัดเจนแล้ว นักลงทุนเขารู้นโยบาย และมันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นักลงทุนเขารับรู้ว่าเราจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แบบนี้เขายิ่งรีบยื่นขอรับส่งเสริม เพราะการลงทุนมันรอไม่ได้
“จากการที่พบนักลงทุนมาโดยตลอด นักลงทุนเองพอใจกับสิทธิประโยชน์ที่ BOI มี นโยบายของไทยมีแต่ปรับให้มีประสิทธิภาพให้ดี และสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น สิ่งนี้จะใช้เป็นกลไกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้นักลงทุนเองไม่ได้พิจารณาจากแค่สิทธิประโยชน์ของ BOI แต่จะพิจารณาจากตลาด โครงสร้างพื้นฐาน Ecosystem และความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซึ่งไทยได้เปรียบเพื่อนแทบทุกเรื่อง จึงไม่ใช่เรื่องกังวลใจว่านักลงทุนจะเปลี่ยนใจเลือกประเทศเพื่อนบ้านลงทุนแทนไทย” นฤตม์กล่าวทิ้งท้าย