×

เปิดมุมมอง ‘วิกฤตแบงก์ล้ม’ รอบนี้ จะลามสู่วิกฤตการเงินครั้งใหญ่เหมือนปี 2008 หรือไม่?

20.03.2023
  • LOADING...

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2007 ต่อเนื่องถึงปี 2008 ธนาคารหลายแห่งที่ล้มละลายไปหรือได้รับการช่วยเหลือ เช่น Northern Rock, Bear Stearns, Countrywide Financial และ Alliance & Leicester ต่างไม่ได้มีความสำคัญในระบบธนาคารอย่างชัดเจน และมีเพียงนักวิเคราะห์ไม่กี่รายที่เชื่อว่าจะนำพาไปสู่วิกฤตร้ายแรงที่โค่นล้มธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brothers

 

15 ปีต่อมา หรือก็คือในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เมื่อธนาคาร 4 แห่งซึ่งประกอบด้วย Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic ในสหรัฐฯ รวมทั้ง Credit Suisse ในยุโรป ต่างอยู่ในสถานะที่สั่นคลอน จึงไม่แปลกใจที่นักลงทุนจะตั้งคำถามว่า สัญญาณดังกล่าวจะนำไปสู่วิกฤตที่บานปลายเหมือนในปี 2008 หรือไม่?

 

จุดเริ่มต้นวิกฤต ‘แตกต่าง’

หากมองในด้านดี สาเหตุหลักของวิกฤตในปี 2008 คือการจำนองสินเชื่อซับไพรม์คุณภาพต่ำจำนวนมากที่ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกผ่านตราสารอนุพันธ์ในงบดุลของธนาคารที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งบริบทเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2023 ที่ระดับคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในระดับที่ดี และเงินทุนของธนาคารก็แข็งแกร่งกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประมาณ 2-3 เท่า

 

ถึงแม้ตลาดจะยังคงมีความกังวล แต่เริ่มมีสัญญาณทรงตัวบ้างในระดับหนึ่ง หลังจากที่ Credit Suisse ได้รับการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกว่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากธนาคารแห่งชาติสวิส ในขณะที่ความเสี่ยงจากการดำเนินการของ Fed ถูกชดเชยด้วยการค้ำประกันเงินฝาก และการสร้างสภาพคล่องรูปแบบใหม่ 

 

แน่นอนว่าการแทรกแซงดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะมีการปฏิรูปด้านกฎระเบียบหลังวิกฤตครั้งใหญ่ในปี 2008 ไปแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดโดมิโนพังทลายระบบการเงินอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยในตอนนั้นมีการกำหนดระดับขั้นต่ำเงินทุนของตราสารทุนใหม่ มีการทดสอบความเสี่ยงของสินเชื่อ และกำหนดอัตราส่วนสภาพคล่องอย่างเข้มงวดขึ้น โดยกำหนดว่าควรมีเงินทุนที่พร้อมต่อคำขอการถอนเงินของลูกค้า

 

แต่ละแบงก์มีปัญหา ‘เฉพาะตัว’

ปัญหาในปัจจุบันของสหรัฐฯ มีสาเหตุชัดเจนจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank (SVB) หลังจากที่ธนาคารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยได้ไม่ดีพอ และต้องเผชิญการกำกับดูแลที่เข้มงวด ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการถอนเงินฝากจากลูกค้า ซึ่งธนาคารอื่นๆ ต้องเผชิญปัญหาในทำนองเดียวกัน เช่น Signature Bank ขณะที่ First Republic ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคอีกแห่ง กลายเป็นธนาคารที่มีความเสี่ยง ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะเป็นธนาคารที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการจัดหาเงินทุนพิเศษของ Fed เนื่องจากขาดหลักประกันที่จำเป็นตามที่โครงการกำหนด

 

ขณะเดียวกันความสนใจในฝั่งยุโรปได้ตกไปอยู่ที่ Credit Suisse ซึ่งถูกมองว่าเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่อ่อนแอที่สุดในภูมิภาคมาอย่างช้านาน ทั้งนี้ สาเหตุไม่ได้เหมือนกับ SVB เลยเสียทีเดียว โดย Credit Suisse มีปัญหาทั้งด้านการกำกับดูแลที่ดี และด้านการป้องกันความเสี่ยงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งธนาคารต้องเผชิญกับการปรับโครงสร้างที่ช้า และต้องเจอกับข่าวอื้อฉาวมานานกว่าทศวรรษ เพราะรูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการโน้มน้าวให้มหาเศรษฐีมอบความไว้วางใจในการฝากหรือลงทุนผ่านธนาคาร 

 

ถึงกระนั้น เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ดูเหมือนฝั่งยุโรปจะยังมีด้านดีที่มากกว่า เพราะการสูญเสียเครดิตอยู่ในระดับต่ำ ระดับเงินทุนยังแข็งแกร่ง และผ่านการทดสอบความเสี่ยงทางสินเชื่อแล้ว

 

นโยบายธนาคารกลางเป็น ‘ตัวชี้วัด’

ปัจจุบันความพยายามของธนาคารกลางในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อจะสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจถดถอย และส่งผลให้ธนาคารอาจต้องขาดทุนจากการปล่อยกู้มากขึ้น จนอาจกระทบต่อทุนสำรองของบริษัท ในขณะเดียวกัน ความเสียหายที่คาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นกับส่วนหนึ่งในระบบการเงินที่มีการควบคุมที่หย่อนยานมากกว่าแต่มีความสำคัญในระดับเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาเคยชินกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ในที่นี้อาจหมายถึงกองทุนเงินบำนาญ หุ้นนอกตลาด และกองทุนเฮดจ์ฟันด์

 

แม้ว่าการล่มสลายทางการเงินครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งได้ยาก แต่ความสามารถในการจัดการเมื่อเกิดวิกฤตกลับทำได้ยากขึ้น ย้อนไปในปี 2008 ธนาคารกลางหลายแห่งสามารถลดอัตราดอกเบี้ย และเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ทำให้ธนาคารมีเงินช่วยเหลือและเพิ่มสภาพคล่องภายในระบบ แต่ในปัจจุบันงบดุลของรัฐบาลเริ่มยืดเยื้อขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ อาวุธที่มีอยู่จึงนับได้ว่าน้อยลง และนับเป็นสัญญาณอันตรายในระดับหนึ่ง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X