×

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก 20 ปี วรุธ สุวกร อดีต กก.ผจก.ใหญ่ ทีโอที ทุจริต อนุมัติจ่ายเงินไอ-โมบาย 1,485 ล้าน สั่งชดใช้คืน 1,000 กว่าล้านพร้อมดอกเบี้ย

โดย THE STANDARD TEAM
16.03.2023
  • LOADING...

วันนี้ (16 มีนาคม) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 139/2565 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง วรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยใช้ชื่อว่าบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จึงรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 4

 

ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 13 ตุลาคม 2551 เวลากลางวันต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จำเลยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ไปเจรจากับบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาและเรียกร้องเงินจำนวน 2,648,771,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับถัดจากวันฟ้อง

 

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือโดยทุจริต โดยจำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,485 ล้าน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาทที่จำเลยมีอำนาจอนุมัติได้ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำให้บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระเงินค่าเสียหายไปเป็นจำนวนเกินกว่าที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ควรจะต้องจ่าย 

 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน 525,370,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 

 

ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 8, 11 ระหว่างพิจารณา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 525,370,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

 

จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าจำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นไปตามผลการเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและกำหนดแนวทางที่นำเสนอมา และมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมครั้งที่ 19/2551 เมื่อให้อำนาจจำเลยอนุมัติจ่ายเงินตามฟ้องได้เนื่องจากเป็นเรื่องการบริหารจัดการสัญญาของฝ่ายบริหาร ทั้งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่ยกเว้นให้จำเลยมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินได้เกินกว่า 10 ล้านบาทตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ 29/2546 

 

และจำเลยไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เพราะตามมติที่ประชุมที่ 19/2551 ข้างต้นให้อำนาจจำเลยไว้แล้วกับตามคำสั่งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ ส.10/2561 เรื่องผลการสอบสวนผู้รับผิดทางแพ่ง สรุปว่าการจ่ายเงินตามฟ้องจำเลยไม่มีความผิดทางแพ่ง จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดตามฟ้องและไม่ต้องรับชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง 

 

ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาลประกอบรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 4 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,476 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามการอนุมัติของจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่อนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ 

 

เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยอนุมัติสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 1,476 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่า 10 ล้านบาท จำเลยจึงต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียก่อน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ 19/2546 ข้อ 2.1, 2.5 เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องคดีแพ่งเป็นการฟ้องเรียกให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชำระเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) จากการผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย 

 

กรณีนี้จึงไม่อาจเป็นการเจรจาหาข้อยุติเพื่อที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาที่จะเป็นข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ 29/2546 ข้อ 2.1, 2.5 ได้ ทั้งการที่นำยอดเงินจำนวนเต็มตามฟ้องในคดีแพ่งมาเป็นหลักในการเจรจาต่อรอง จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นฝ่ายผิดสัญญาและยอมรับผิดเต็มตามฟ้อง 

 

นอกจากนี้การเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางก็มิได้ปฏิบัติตามความเห็นที่เป็นข้อสังเกตของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 19/2551 ประกอบกับจำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 เดือนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 19/2551 กำหนดไว้ นอกจากนี้ก่อนและหลังจำเลยอนุมัติให้จ่ายเงินแก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้มีการคัดค้านจากบุคคลภายในหน่วยงานของจำเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะมีการยกเลิกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) 

 

เพราะฝ่ายการเงินและบัญชีคัดค้านเรื่องอำนาจจ่ายเงินของจำเลย แต่จำเลยก็ยังอนุมัติให้มีการจ่ายเงินดังกล่าวโดยไม่หารือหรือขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตอบข้อหารือหรือนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจอนุมัติวงเงินซึ่งเป็นจำนวนมากถึง 1,476 ล้านบาท 

 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กับเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือโดยทุจริต 

 

ส่วนข้อที่จำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธมา ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งการที่จำเลยเบิกความว่าขอขยายระยะเวลา 1 เดือนด้วยวาจากับคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณามาก่อน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน 

 

พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยตามคำร้อง 

 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 จำคุก 20 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 1,062,147,006.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน จำนวน 525,370,000 บาท นับถัดจากวันที่ 15 ธันวาคม 2565

 

ภายหลังมีคำพิพากษา วรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้ว ให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันต่อไป

 

ซึ่งตามขั้นตอนแล้วหากภายในเวลาทำการราชการ ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งประกันลงมา วรุธจะถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำเพื่อรอผลคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X