×

จะเกิดอะไรถ้ารถไฟไทย-จีนเว้นใบอนุญาตวิศวกร-สถาปนิกจีน

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • จากการออกคำสั่งพิเศษตามมาตรา 44 โดยยกเว้นให้สถาปนิกและวิศวกรของจีนไม่ต้องขอใบอนุญาตเพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทำให้แวดวงวิศวกรและสถาปนิกออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
  • คำสั่งยกเว้นนี้อาจทำให้วิศวกรไทยเสียโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จวิศวกรไทยจะไม่สามารถรับช่วงดูแลต่อได้เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
  • นอกจากจะขัดกับ พ.ร.บ.วิศวกร และ พ.ร.บ.สถาปนิกแล้ว คำสั่งนี้ยังขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการค้าและข้อตกลงสากลของสถาปนิกหลายๆ ข้ออีกด้วย

     นับเป็นความพยายามล่าสุดในการเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของรัฐบาล คสช. ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและปัญหาทั้ง 5 ด้านที่อาจทำให้โครงการล่าช้าออกไป

     หนึ่งในเหตุผลที่ต้องนำกฎหมายพิเศษมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า

     เนื่องจากการก่อสร้างต้องใช้สถาปนิกหรือวิศวกรของจีน ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดกฎหมายต้องสอบใบอนุญาตประเภทบุคคลจากไทยก่อน ยกเว้นจะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ทั้งที่จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 20,000 กิโลเมตร ขณะที่ไทยยังไม่มีแม้แต่เมตรเดียว เหตุใดจึงต้องมาสอบใบอนุญาตสถาปนิกหรือวิศวกรจากไทยก่อน

     ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะแวดวงวิศวกร และสถาปนิกที่ต่างก็ออกมาตอบโต้เรื่องนี้กันอย่างทันควัน

     เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น THE STANDARD ได้ชวน ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ และ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก และผู้ก่อตั้งบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด มาร่วมกันวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดจากผลของการใช้อำนาจพิเศษครั้งนี้

 

ไม่ต้องขอใบอนุญาตเท่ากับไม่ต้องรับผิดชอบ?

     ตามกฎของสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกระบุไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในประเทศไทยจำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากทางสภาเพื่อเป็นการขึ้นทะเบียนและระบุตัวตนผู้ปฏิบัติงาน

     แต่กรณีที่ยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตนี้ อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้วิศวกร และสถาปนิกชาวจีนที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความผิดพลาด

     ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยแสดงถึงความกังวลในเรื่องนี้ว่า

     “การที่ต้องขึ้นทะเบียนวิศวกรชาวต่างชาติ เพราะเราจะได้มีโอกาสอธิบายให้เขาเข้าใจถึงข้อกฎหมาย ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเทศไทย แล้วเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังสามารถเข้าไปช่วยกันกำกับดูแลได้

     “ถ้าสมมติขณะก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ผมถามหน่อยว่าแล้วใครจะเข้าไปจัดการอะไรได้ เพราะคนไทยจะเข้าไปดูแลอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายที่จะเข้าไปจัดการได้”

     นอกจากนี้ตัวแทนวิศวกรชาวไทยยังยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านโครงการนี้ เพราะมองว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศ แต่ตามหลักความรับผิดชอบทางกฎหมายแล้ว ไม่ควรมีการยกเว้น และการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากแต่อย่างใด

     ด้านดวงฤทธิ์ บุนนาค ระบุว่าโดยทั่วไปแล้วสถาปนิกไทยที่จะประกอบวิชาชีพได้ ต้องผ่านการสอบใบอนุญาตที่ใช้เวลา 1-2 ปีขึ้นไป เพื่อให้สถาปนิกทุกคนมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ในขณะนี้คำสั่งพิเศษนี้กำลังจะทำให้สถาปนิกจีนเข้ามาทำงานได้ทันที ซึ่งนับเป็นเรื่องอันตรายที่ควรมีการทบทวน

     “การที่สถาปนิกเรามีใบประกอบวิชาชีพ ก็เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ เช่น ถ้าผมออกแบบที่จอดรถแล้วรถเข้าไปจอดไม่ได้ หรือออกแบบตึกแล้วตึกมีปัญหา ผมก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพราะเราขึ้นทะเบียนเอาไว้

     “แต่การที่ปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ก็แปลว่าถ้าเขาสร้างงานขึ้นมา แล้วงานมีผลกระทบต่อชุมชน หรือสังคม เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยนะ เขาก็แค่บินกลับบ้านไปพร้อมกับเงินค่าออกแบบ ที่สำคัญคือเขาจะกลับมาอีกทีเมื่อไรก็ได้ เพราะมันไม่มีความควบคุมอะไรเลย เนื่องจากเขาไม่ได้อยู่ภายใต้สภาวิชาชีพอย่างถูกต้อง ซึ่งคนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชนคนไทยนี่แหละ”

     นอกจากนี้ดวงฤทธิ์ยังระบุว่า หากต้องการเร่งรัดเรื่องนี้จริงๆ แทนที่จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 น่าจะเปิดให้มีการขออนุญาตแบบภาคีพิเศษ ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็ว และที่ผ่านมาก็เคยมีการใช้ใบอนุญาตลักษณะนี้มาแล้วในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

     “การทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ต้องให้ความเคารพกับสภาวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพมากๆ เพราะเวลาที่มันเกิดผลกระทบขึ้นมา คุณรับผิดชอบไม่ไหวหรอก”

 

เสียโอกาสในการโอนถ่ายเทคโนโลยี

     ประเด็นใหญ่อีกข้อที่ธเนศแสดงความกังวลคือ เรื่องของการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากยกเว้นใบอนุญาต ซึ่งเป็นการตัดโอกาสสำหรับวิศวกรชาวไทยในการเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ

     “โครงการดีๆ อย่างนี้น่าจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยมีวิศวกรไทยกำกับทำงานร่วมกันอย่างเป็นสัดส่วน เพราะถ้าทำงานเสร็จเรียบร้อย วิศวกรไทยไม่รู้อะไรเลย ถ้าวิศวกรจีนกลับประเทศ แล้วใครจะเป็นคนดูแลรักษาต่อ แล้ววิศวกรไทยจะดูแลได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้เรื่องเลย

     “อีกอย่างคือจีนเองก็ใช้หลักการเดียวกับเราในสมัยอดีต เพราะเขาไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำรถไฟความเร็วสูง เขาก็ต้องไปจ้างต่างชาติมาเหมือนกัน แต่เขามีการถ่ายโอนเทคโนโลยี จนตอนนี้สามารถสร้างได้ด้วยตัวเองได้ ประเทศอื่นๆ ก็ทำแบบเดียวกัน แต่ทำไมไทยถึงจะทำไม่ได้”

     ธเนศยังเน้นย้ำถึงความสามารถของวิศวกรไทยว่า วิศวกรไทยสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว หากมีการเปิดโอกาสให้วิศวกรไทยทำงานร่วมกับวิศวกรจีน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับวงการวิศวกรรมไทยมากกว่าแน่นอน

 

ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

     อีกประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กันสำหรับวงการสถาปัตยกรรม คือกรณีนี้อาจเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในหลายๆ ข้อ เช่น ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services (MRA), General Agreement on Trade and Services (GATS) หรือ Principle of Non-Discrimination ของ WTO ซึ่งดวงฤทธิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญของประเด็นอ่อนไหวนี้ว่า

     “ผมยกตัวอย่างว่ามันมีข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในเรื่องของความเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถ้าเราอนุญาตให้สถาปนิกจีนเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้โดยเสรี แปลว่าประเทศอื่นที่เป็นสมาชิก WTO ก็จะต้องมีสิทธิทำได้เหมือนกัน เพราะเมื่อคุณให้สิทธิประเทศหนึ่ง คุณก็ต้องให้สิทธิกับประเทศอื่นๆ เท่ากันในการทำการค้าและการบริการ ซึ่งเรื่องนี้เราพยายามระมัดระวังกันมาโดยตลอด

     “การที่เราให้อนุญาตแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังเปิดประตูอ้าไว้ ต่อจากนี้ประเทศอื่นๆ จะมาขอเจรจาโดยใช้เงื่อนไขความเท่าเทียมกันของ WTO เพื่อเข้ามาทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตได้เช่นกัน”

     นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงสากลสำหรับสถาปนิกที่เรียกว่า UIA Accord ของ International Union of Architects ที่กำหนดให้สถาปนิกที่ไปปฏิบัติงานในประเทศอื่น ต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกท้องถิ่นด้วย เพื่อเคารพวิชาชีพ และบริบททางสังคม หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศด้วย

      “ถ้าพูดกันในหลักการผมถามว่ามันถูกต้องหรือเปล่าที่ทำแบบนี้ การที่เขาทำข้อตกลงกันมา ระมัดระวังกันมากในประเด็นที่มีความอ่อนไหว มีการเจรจากับต่างประเทศมาเป็นสิบๆ ปี อยู่ดีๆ ก็จะมาหย่อนระเบิดตู้ม แล้วสิ่งที่เคยทำกันมาก็พังหมด แล้วถามจริงๆ ว่ากับเรื่องแบบนี้จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หรือเปล่า ทั้งๆ ที่ทำไปตามกฎหมายปกติก็ได้

     “ผมเชื่อว่า คสช. ไม่รู้เรื่องเหล่านี้หรอก เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อน แต่สิ่งที่เขาควรจะทำคือควรจะปรึกษาสภาวิชาชีพก่อน ไม่ใช่มองแต่จะผลักดันโครงการให้เร็ว แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบโดยรอบที่จะเกิดขึ้นเลย”

     แม้คำสั่งพิเศษดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้แล้ว แต่หลังจากนี้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะมีแถลงการณ์ร่วมกันต่อกรณีนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่ง THE STANDARD จะติดตามเรื่องนี้ และรายงานเมื่อมีความคืบหน้าต่อไป

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X