สืบเนื่องจากกรณีที่ หุ่นพยนต์ ภาพยนตร์สองขวัญเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้จัดฉายในเรต ฉ 20- พร้อมมอบหมายให้ทีมสร้างดำเนินการแก้ไขตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์จำนวน 6 ข้อ จึงส่งผลให้ทางค่าย FIVE STAR PRODUCTION ประกาศเลื่อนฉายภาพยนตร์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้ทีมสร้างปรับแก้เนื้อหาให้เหมาะสมกับเรต ฉ 20-
ล่าสุดวันนี้ (9 มีนาคม) ทางเพจสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านผลการพิจารณาของภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมถึงคัดค้านในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี
นอกจากนี้ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์ โดยเล็งเห็นว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 นั้นไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
สำหรับเนื้อหาภายในแถลงการณ์ฉบับเต็ม ระบุว่า
“เรื่อง ผลการพิจารณาจัดเรตภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์
“จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ของ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ต้องตัดทอนฉากต่างๆ ออก เพื่อให้ได้รับ เรต ฉ 20- มิฉะนั้นภาพยนตร์จะถูกห้ามฉาย ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์ และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก
“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเห็นด้วยกับการใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ตามช่วงวัย แต่สมาคมฯ ขอคัดค้านการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี และขอคัดค้านผลการพิจารณาภาพยนตร์ในครั้งนี้ และจะร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ในการคัดค้านผลการพิจารณา และดำเนินการในขั้นต่อไป
“และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์ จากการที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์และประชาชนอย่างแท้จริง”
อ้างอิง: