เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ ปี 2565 จำนวน 18,496 รูป พบว่าพระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 25.58 ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และภาวะไขมันในเลือดสูง
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่ประชาชนถวายอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สถานที่ผลิต, วัน-เดือน-ปีที่ผลิต และวัน-เดือน-ปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบ ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วและไม่เป็นสนิม หรือเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)
ทั้งนี้ แนะนำให้ประชาชนเลือกอาหารสุขภาพในการตักบาตร ถวายอาหารเพล โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เน้นอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน-มัน-เค็ม โดยเลือกใช้ข้าว/แป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ, ขนมปังโฮลวีต อาหารประเภทปลา, เต้าหู้, ไข่, เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
รวมทั้งเลี่ยงเมนูอาหารกะทิ และอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม, นึ่ง, ยำ, อบ, ลวก, น้ำพริก ลดอาหารหวานจัดและอาหารหมักดอง รวมถึงตักบาตรด้วยผักผลไม้หลากหลายชนิดและสีตามฤดูกาล, นมจืด, นมพร่องมันเนย, โยเกิร์ตรสธรรมชาติ, น้ำเปล่า และน้ำปานะหวานน้อย
“พระภิกษุสามเณรไม่สามารถเลือกสิ่งของที่จะนำมาตักบาตรถวายได้ จึงควรพิจารณาของที่ถวายให้เหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย การนำอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูงทำบุญตักบาตร จะส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพพระสงฆ์” นพ.สุวรรณชัยกล่าว