×

‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.79% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน คาดทั้งปีอยู่ในกรอบ 2-3%

07.03.2023
  • LOADING...

กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 3.79% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.93% ต่ำลงเล็กน้อย คาดภาพรวมเงินเฟ้อทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2-3%

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 108.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.10 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 3.79% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเริ่มใกล้เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ 

 

โดยสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 29 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, เม็กซิโก, อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย 

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์เป็นการชะลอตัวตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ทั้งนี้ ในเดือนที่ผ่านมาราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับสูงขึ้น 5.74% (YoY) ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น 7.70% โดยสินค้าที่มีราคาปรับลดลง ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป, กับข้าวสำเร็จรูป, อาหารกลางวัน, ข้าวราดแกง, ผักและผลไม้, มะนาว, แตงกวา, แตงโม, ส้มเขียวหวาน, ข้าวสาร, ไข่ และผลิตภัณฑ์นม

 

ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้น 2.47% (YoY) ชะลอตัวจากเดือนมกราคม 2566 ที่สูงขึ้น 3.18% โดยสินค้าที่มีราคาปรับลดลงได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องรับโทรทัศน์, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, น้ำยาระงับกลิ่นกาย, ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว, แป้งผัดหน้า, ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าทัศนาจรในประเทศ

 

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกปรับสูงขึ้น 1.93% (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 0.12% (MoM) 

 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมีนาคม 2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ 

 

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2.0-3.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising