เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ได้สั่งให้มีการยกเครื่องภาคการเกษตรของประเทศครั้งใหญ่เพื่อเร่งเพิ่มผลผลิต ขณะที่มีข้อมูลข่าวกรองจากฝั่งเกาหลีใต้หลุดออกมาว่า เกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารครั้งเลวร้าย จนมีแนวโน้มว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากความอดอยากแล้วในบางพื้นที่ของประเทศ
เกิดอะไรขึ้นกับเกาหลีเหนือ?
ทำไมถึงเกิดวิกฤตอาหาร
- ประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารในเกาหลีเหนือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังมายาวนาน โดยย้อนกลับไปเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 เกาหลีเหนือเคยเผชิญกับภาวะความอดอยากรุนแรงจนถึงขั้นที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3-5% ของจำนวนประชากรที่แข็งแรง 20 ล้านคนในเวลานั้น
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) และการที่เกาหลีเหนือจำต้องปิดพรมแดนเพื่อหนีการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะความอดอยากรอบล่าสุด โดยสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของเกาหลีเหนือนั้นมีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าเกาหลีเหนือเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซามายาวนานหลายสิบปี เนื่องจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของบรรดาผู้นำเผด็จการซึ่งทุ่มเททรัพยากรไปกับการพัฒนาอาวุธ จนเจอกับการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ
- รายงานจากเว็บไซต์ 38 North ของสถาบันสหรัฐอเมริกา-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ซึ่งเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ เปิดเผยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ปริมาณอาหารในเกาหลีเหนือมีแนวโน้มที่จะ ‘ลดลงต่ำกว่าปริมาณที่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการขั้นต่ำของมนุษย์’ ซึ่งตีความได้ว่า มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะมีประชาชนบางส่วนเสียชีวิตลงแล้วเพราะความอดอยาก สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะขาดอาหารอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด แต่ 3 ปีของการปิดพรมแดนและการแยกตัวโดดเดี่ยวของประเทศกลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
- ส่วนข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ประเมินว่า เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือหดตัวลงประมาณ 0.1% ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน
- สัญญาณที่ตอกย้ำว่าสถานการณ์ในประเทศกำลังวิกฤตหนักก็คือ คิมจองอึนได้จัดการประชุมพรรคแรงงานเป็นเวลา 4 วันในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปขั้นพื้นฐานในโครงการเกษตรกรรมและเศรษฐกิจของรัฐ และระบุถึงความจำเป็นที่รัฐจะต้องเสริมการควบคุมภาคการเกษตร
ภาคการเกษตรของประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
- คิมจองอึนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ตามเป้าหมาย และเรียกร้องให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอาหาร พร้อมประกาศย้ำอีกด้วยว่า ภายใต้การดูแลประเทศของพรรคแรงงานนั้น ‘ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้’ สำหรับประเทศนี้
- มาร์ติน วิลเลียมส์ (Martyn Williams) นักวิชาการจาก Stimson Center กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น ระบบการเกษตรร่วม (Collective Agriculture System) เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงสังคมเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ระบบการเกษตรของเกาหลีเหนือเน้นการพึ่งพาเกษตรกรในประเทศให้ผลิตอาหารจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนที่ผลผลิตเหล่านั้นจะเข้าสู่ส่วนกลาง และนำไปกระจายให้ประชาชนตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ระบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวเกาหลีเหนือทุกคนได้รับสารอาหารขั้นพื้นฐานเพียงพอเท่าๆ กัน
- “อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวเริ่มพังทลาย และตอนนี้ก็อยู่ในระดับที่ชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่รอดได้ หากรอการจัดสรรจากรัฐเพียงแค่อย่างเดียว” วิลเลียมส์กล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาหารจากส่วนกลางส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่เมืองหลักๆ ซึ่งชนชั้นนำของประเทศอาศัยอยู่ รวมถึงหน่วยงานด้านทหารต่างๆ
- ข้อมูลของเกาหลีใต้ประเมินว่า ยอดการผลิตธัญญาหารในปี 2022 ของเกาหลีเหนืออยู่ที่ 4.5 ล้านตัน หรือลดลง 3.8% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากมีฝนตกหนักในฤดูร้อน บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ขณะที่เกาหลีเหนือต้องใช้ธัญญาหารราว 5.5 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอเลี้ยงปากท้องของประชาชนกว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศ เห็นได้ว่าจะมีปริมาณที่ขาดไปอยู่ 1 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเกาหลีเหนือก็จะแก้เกมด้วยการนำเข้าผลผลิตจากจีน แต่ก็อยู่ที่ราวๆ 5 แสนตันเท่านั้น นอกจากนี้ การปิดพรมแดนชั่วคราวในช่วงโควิดก็ยิ่งทำให้การซื้อสินค้าจากจีนลดน้อยลงกว่าเดิมด้วย
- ผู้เชี่ยวชาญระบุเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการเกษตรของเกาหลีเหนือคือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยงานวิจัยจากสถาบัน Brookings Institution ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า จากการประเมินสภาพภูมิประเทศของเกาหลีเหนือนั้น มีพื้นดินเพียงประมาณ 20% ของประเทศ หรือ 2.2 ล้านเฮกตาร์ ที่สามารถทำการเกษตรได้
- ขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือเองก็ขาดโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ทางการเกษตรที่สำคัญหลายต่อหลายอย่าง รวมถึงปุ๋ยและเชื้อเพลิง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติอีกด้วย และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องของเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้าหลังชาวโลกไปเป็นสิบๆ ปี โดยวิลเลียมส์ให้ข้อมูลว่า การปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่ยังใช้ ‘มือ’ ของมนุษย์ล้วนๆ
- เมื่อนำปัจจัยต่างๆ มาประกอบรวมกัน จะเห็นได้ว่าการทำไร่ทำนาของเกาหลีเหนือนั้นขาดประสิทธิภาพเอามากๆ หากเทียบกับชาติอื่น ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นทำได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดจึงทำให้เกาหลีเหนือเจอกับปัญหาอาหารไม่พอเลี้ยงคนในประเทศอยู่ทุกปี แต่ดูเหมือนว่าปีนี้จะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
- ข้อมูลจากกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยด้วยว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตจากความอดอยากแล้วหลายรายในเกาหลีเหนือ แต่เคราะห์ยังดีที่ไม่ถึงขั้นมีคนตายเป็นจำนวนมากเช่นเหตุการณ์ในอดีต
- แม้รายงานจากประเทศรอบนอกจะบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือกำลังเผชิญวิกฤตที่คร่าชีวิตมนุษย์ถึงตาย แต่ทางการเปียงยางยังคงปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ทางการเกาหลีเหนือ Rodong Sinmun ได้ตีพิมพ์บทความที่ระบุว่า เกาหลีเหนือควรต้องพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ อีกทั้งยังเปรียบเทียบความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็น ‘ลูกอมอาบยาพิษ’
ชาวเกาหลีเหนือกินอยู่กันอย่างไร
- วิลเลียมส์กล่าวว่า การจัดสรรอาหารมาสู่แต่ละครัวเรือนในประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในภูมิภาคไหน
- “การปันส่วนอาหารนั้นมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท ในเขตเมือง และในกรุงเปียงยาง ซึ่งถ้าหากใครมีเงิน อาหารก็เป็นสิ่งที่พอหาซื้อได้อย่างไม่ยากลำบากในเปียงยาง” วิลเลียมส์กล่าว
- ผู้คนในเกาหลีเหนือกินอาหารประมาณ 2-3 มื้อต่อวัน อาหารประจำชาติของพวกเขาก็จะคล้ายกับเกาหลีใต้ แต่แน่นอนว่าในเกาหลีเหนือนั้น การจะหาเนื้อสัตว์หรือผลไม้สดทำได้ยากกว่ามาก ฉะนั้น อาหารส่วนใหญ่หลักๆ ก็จะเน้นข้าวกับผัก
- ส่วนในชนบทนั้นประชาชนจะต้องพึ่งพาอาศัยพืชที่พวกเขาสามารถปลูกเองได้ หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่พอหาซื้อในตลาดได้ (ด้วยราคาที่สูงมาก) มากกว่าที่จะรอการจัดสรรจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ก่อนนั้น เกาหลีเหนือจะไม่ได้มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายอาหารกันด้วยตัวเอง แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะระบบการจัดสรรปันส่วนอาหารจากส่วนกลางย่ำแย่ลงมาก
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ‘เงิน’ กลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นสำหรับการดำรงชีวิตในรัฐโดดเดี่ยว “ชีวิตขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเงินเท่าไร มันอาจจะแย่ได้ถึงขั้นที่ประชาชนต้องประทังชีวิตด้วยโจ๊กถ้วยเดียวต่อวัน” วิลเลียมส์กล่าว
- ภาพต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างสุดขีด เพราะในขณะที่ประชาชนบางส่วนต้องกินข้าวแค่วันละมื้อ กลุ่มชนชั้นนำกลับอิ่มหมีพีมันด้วยอาหารดีๆ สามมื้อต่อวัน ขณะที่ตัวเลขผู้ที่ต้องหิวโหยนั้นก็ยากที่จะประเมิน เพราะอย่างที่รู้กันว่าเกาหลีเหนือปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศของตน โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก
เกาหลีเหนือหมกมุ่นกับการพัฒนาอาวุธจนไม่สนใจความมั่นคงทางอาหารจริงหรือ
- ข้อมูลของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) จากสหรัฐฯ ระบุว่า เกาหลีเหนือมีกองทัพใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก มีบุคลากรทางทหารมากกว่า 1.2 ล้านคน โดยมีการประเมินว่า เกาหลีเหนือทุ่มเทงบประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของ GDP ให้กับด้านกลาโหมของประเทศ
- ในปี 2017 เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า เปียงยางมีวัสดุฟิสไซล์เพียงพอสำหรับประกอบอาวุธนิวเคลียร์มากถึง 60 ชิ้น และถึงแม้จะมีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ แต่เกาหลีเหนือก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธต่อไปอย่างไม่ลดละ
- ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้แสดงแสนยานุภาพในพิธีสวนสนามฉลองครบรอบ 75 ปีของกองทัพ พร้อมโชว์ขีปนาวุธข้ามทวีปมากที่สุดในคราวเดียวระหว่างงานพิธีดังกล่าว
- “ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศให้เติบโตโดยได้สารอาหารเพียงพอต่อวัน เกาหลีเหนือกลับวางแผนที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แถมยังกระหน่ำยิงขีปนาวุธด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้น และมีแผนที่จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปีนี้” วิลเลียมส์กล่าว
- จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศกลับถูกส่งไปอุดหนุนภาคการทหารเป็นจำนวนมหาศาล เพราะเกาหลีเหนือมองว่าการเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศนั้นเป็นภารกิจที่จำเป็นมากที่สุด ท่ามกลางช่วงเวลาที่เกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ อาจพยายามโค่นอำนาจรัฐบาลได้ทุกเมื่อ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หรือชีวิตของประชาชนตาดำๆ จะสำคัญน้อยกว่าความมั่นคงของท่านผู้นำ…และถึงจะเป็นเช่นนั้นจริง นี่ก็อาจเป็นสถานการณ์ที่ทำให้คิมจองอึนต้องหวนคิดทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะปัญหาปากท้องที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของคน ก็จะทำให้แรงสนับสนุนของเขาสั่นคลอนด้วยเช่นกัน
แฟ้มภาพ: LMspencer via Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2023/3/3/is-north-korea-fighting-a-food-crisis
- https://www.theguardian.com/world/2023/feb/28/north-korea-food-shortages-kim-jong-un-agriculture-grain-targets-sanctions
- https://edition.cnn.com/2023/03/03/asia/north-korea-hunger-famine-food-shortages-intl-hnk/index.html
- https://www.voanews.com/a/north-korea-food-shortage-worsens-since-covid-/6979071.html