×

แนวทางรับมือกับความท้าทายของซีอีโอในวันนี้ เพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่ความยั่งยืนในวันข้างหน้า

01.03.2023
  • LOADING...
ซีอีโอ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา PwC ได้เปิดเผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 (26th Annual Global CEO Survey) ที่ได้สอบถามความคิดเห็นของซีอีโอจำนวนกว่า 4,000 คนทั่วโลก โดยในจำนวนนี้มีซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวมอยู่ด้วยถึง 1,634 คน

 

จากผลการสำรวจล่าสุดเราพบว่า ซีอีโอมองปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ธุรกิจแสดงความกังวลมากที่สุด ในขณะที่เกือบ 70% ของซีอีโอในภูมิภาค เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะยิ่งตกต่ำในอีก 12 เดือนข้างหน้า และน่าตกใจที่ซีอีโอกว่าครึ่งหรือ 53% กล่าวว่า บริษัทของพวกเขาจะไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในทศวรรษข้างหน้า หากยังไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงองค์กรในวันนี้

 

นี่จึงเป็นที่มาของการที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการกับความท้าทายในระยะสั้น เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไรเพื่อความอยู่รอด ในขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อการเติบโตในระยะยาว

 

สอดคล้องกับบทความ Here’s how CEOs can manage today’s turbulence while reinventing their businesses for the future โดย บ็อบ มอริตซ์ ประธานของ PwC โกลบอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม World Economic Forum ในปีนี้ ที่ได้นำเสนอ 4 แนวทางสำคัญในการสร้างสมดุล และจัดการความไม่แน่นอนในปัจจุบัน พร้อมแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำองค์กร ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่ออนาคต ดังนี้

 

  1. ซีอีโอต้องการพลิกโฉมธุรกิจด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่างที่กล่าวไปว่า มากกว่าครึ่งของซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เปรียบเทียบกับเกือบ 40% ของซีอีโอทั่วโลก) เชื่อว่าบริษัทของตนจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังดำเนินธุรกิจเฉกเช่นปัจจุบัน ความเชื่อนี้เกิดขึ้นในทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมเทคโนโลยี ธุรกิจสุขภาพ การผลิต และอื่นๆ โดยซีอีโอมองเห็นแรงขับเคลื่อนหลายด้านที่จะกวาดล้างองค์กรที่ไม่ยอมปรับตัว ทั้งในเรื่องของความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ การขาดแคลนทักษะแรงงาน และการหลั่งไหลเข้ามาของข้อมูลและเทคโนโลยี  

 

จากประสบการณ์ของเราที่ผ่านมา PwC ได้ช่วยเหลือบริษัทค้าปลีกระดับโลกในการผันตัวเองจากการเป็นร้านออฟไลน์ที่มีหลายสาขา สู่การมีร้านค้าออนไลน์ที่มีหลากหลายช่องทาง นอกจากนี้ เรายังได้ช่วยเหลือลูกค้าบริษัทผลิตรถยนต์ระดับโลกขยายสู่ธุรกิจรถเช่าในระยะยาว (Car Subscription) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป 

 

แนวปฏิบัติ: ผู้นำควรทบทวนคุณค่าที่องค์กรส่งมอบให้กับลูกค้า แต่การพลิกโฉมองค์กรเพื่อความสำเร็จในระยะยาว ผู้บริหารจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า “สินค้าและบริการของตนจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันนี้และวันข้างหน้าอย่างไร?”

 

  1. ซีอีโอมุ่งลดต้นทุน แต่ไม่ลดพนักงาน พบว่าในขณะที่ 48% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ใกล้เคียงกับ 52% ของซีอีโอทั่วโลก) เลือกใช้การลดต้นทุนเพื่อรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น แต่มีเพียง 14% เท่านั้น (เปรียบเทียบ 16% ของซีอีโอทั่วโลก) ที่ลดจำนวนพนักงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านแรงงานอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ที่สร้างแรงกดดันให้องค์กรต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงพนักงานที่มีทักษะสำหรับอนาคต ซึ่งนี่ทำให้ซีอีโอส่วนใหญ่ยังคงมุ่งลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล แทนที่จะลดงบเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้องเช่นกัน 

 

แนวปฏิบัติ: ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีทักษะ ด้วยการส่งมอบสิ่งที่แรงงานในปัจจุบันต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งจากการสำรวจของ PwC ที่ได้สอบถามความคิดเห็นของแรงงานจำนวน 52,000 คนทั่วโลกถึงสาเหตุที่พวกเขาเลือกทำงานหรือเปลี่ยนงาน พบว่าผลตอบแทนนั้นย่อมมีความสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานก็ต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือแบบผสมผสาน และต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น และส่วนใหญ่ยังต้องการทำงานกับนายจ้างที่สร้างผลกระทบเชิงบวกกลับคืนสู่สังคมด้วย

 

  1. ซีอีโอกำลังสร้างความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานของตน ผลจากการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอในปีนี้ชี้ว่า ซีอีโอที่เชื่อว่าบริษัทของตนมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังดำเนินการปรับรอยเท้าทางภูมิศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน โดยไม่ได้ย้ายออกจากตลาดที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด สอดคล้องกับรายงาน 2022 China Business Report ที่พบว่ามีเพียง 17% ของบริษัทของสหรัฐฯ ที่พิจารณาแผนย้ายฐานการผลิตออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ซีอีโอยังคงเลือกที่จะลดผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ไปพร้อมกับจับตาดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในระยะยาว ซึ่งแทนที่จะย้ายออกจากตลาด แต่เลือกที่จะปรับกลยุทธ์เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นขึ้น

 

แนวปฏิบัติ: เพื่อป้องกันระบบห่วงโซ่อุปทาน เราเห็นหลายบริษัทกระจายทางเลือกและลดความซับซ้อนให้กับห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งขยายการจัดการสินค้าคงคลัง เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความเรียบง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและประยุต์ใช้เทคโนโลยีมากกว่าที่เคย

 

  1. ซีอีโอตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เป็นเรื่องของวันนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอเมื่อปี 2022 มีซีอีโอน้อยกว่าครึ่งที่มีการนำปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงขององค์กร แต่ในการสำรวจปีนี้ เราพบว่าซีอีโอส่วนใหญ่มีการปรับกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และบรรเทาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศด้วยการใช้ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ซีอีโอคาดการณ์ว่า ต้นทุนทางธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะอันใกล้

 

แนวปฏิบัติ: ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตั้งแต่วันนี้ ซึ่ง PwC ได้ช่วยเหลือลูกค้าในการจัดทำแผนและจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมตั้งแต่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ลดลงจากภาวะความเครียดเนื่องจากความร้อน (Heat Stress) สิ่งเหล่านี้ทำให้เราค้นพบโอกาสในการสร้างนวัตกรรมควบคู่ไปกับการปกป้องผลการดำเนินงาน 

 

เราจะเห็นได้ว่า อนาคตขององค์กรในยุคปัจจุบันขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ในการจัดการความท้าทายต่างๆ ของซีอีโอ ดังนั้น ความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจ จึงต้องอาศัยความสามารถของผู้บริหารที่มองเห็น จัดการ และตอบสนองต่อปัญหาระยะสั้นได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ก็มีแผนการดำเนินเพื่อรองรับปัญหาในระยะยาว และมีเป้าหมายในการส่งมอบผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงองค์กร บุคลากร และขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซีอีโอของไทยคงต้องหันมาสำรวจตนเองด้วยเช่นกันว่า ได้สร้างสมดุลและจัดการความไม่แน่นอนให้กับธุรกิจของตนที่จะเอื้อประโยชน์ให้ทั้งกับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมส่วนรวมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือยัง?


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X