ถ้าค้อนของ ‘คุณป้าทุบรถ’ คือตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนในสังคมมองเห็นความเจ็บปวดของความไม่ยุติธรรม กรณีตลาดล้อมบ้านบริเวณสวนหลวง ร.9 ป้ายบิลบอร์ดของคุณป้ามิลเดรด เฮย์ส (รับบทโดย ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) ก็คือตัวเร่งปฏิกิริยาให้คดีสะเทือนขวัญ เมื่อลูกสาวของป้ามิลเดรด เฮย์ส ถูกข่มขืนและฆาตกรรม จนกลายเป็นคดีในความทรงจำของผู้คนเมืองมิสซูรี
สรุปอย่างสั้นที่สุด Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นเรื่องของคุณแม่ที่ต้องทนอยู่กับความทุกข์ใจเมื่อลูกสาวถูกข่มขืนและฆาตกรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป 7 เดือนคดีก็ยังไม่คืบหน้า จนเธอตัดสินใจเช่าป้ายโฆษณาเพื่อตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมอันแสนล่าช้า และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อแก้แค้นให้กับลูกสาวของเธอ
ตัวอย่างหนัง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri
อย่าเพิ่งโดนหลอกจากเรื่องย่อและตัวอย่างหนัง แล้วคิดว่าคุณจะได้เห็นภาพการล้างแค้นหรือทวงคืนความยุติธรรมของคนเป็นแม่ด้วยวิธีการชาญฉลาดและเต็มไปด้วยตรรกะที่สมเหตุสมผล เพราะวิธีที่คุณป้าบิลบอร์ดใช้ในเรื่องนี้คือ การ ‘เอาคืน’ ด้วยอารมณ์ล้วนๆ และต้องยอมรับว่าหลายๆ วิธีที่เธอเลือกก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าหลักแหลมได้เท่าไรนัก
แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ไปเสียก่อน เพราะการที่ผู้กำกับอย่าง มาร์ติน แม็กดอนนา เลือก ‘อารมณ์’ เป็นตัวนำเหตุผล ก็ช่วยทำให้ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นหนังดราม่าทวงคืนความยุติธรรมที่แปลกใหม่และไปได้ไกลกว่าหนัง genre นี้ในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา
ตามปกติตัวละครในขนบของหนังประเภทนี้จะต้องเป็นคนที่เจ็บปวด ชอกช้ำ อับจนหนทาง จนต้องรีดเค้นความสามารถทั้งทางร่างกาย ความคิด และจิตใจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนดูจะร่วมลุ้นและเอาใจช่วยให้ตัวละครนั้นๆ ปฏิบัติภารกิจสำเร็จ และ ‘ตัวร้าย’ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นั้นก็ต้องได้รับบทลงโทษที่สาสมและสาแก่ใจคนดู
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเอ็บบี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสารวัตรวิลเลอร์บี (รับบทโดยวู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) ที่เธอตั้งใจหาเรื่อง กลับกลายเป็นขวัญใจของคนทั้งเมือง ทำให้นอกจากเพื่อนสนิทที่คอยให้ท้าย ก็แทบไม่มีชาวเมืองคนไหน (รวมทั้งลูกชายแท้ๆ ของเธอ) เห็นด้วยกับกลยุทธ์ทวงแค้นผ่านป้ายบิลบอร์ดของเธอแม้แต่คนเดียว ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าไม่นับกรณีที่ตำรวจตามหาตัวคนร้ายไม่ได้ ลึกๆ แล้วเธอก็ยังยอมรับและเห็นใจสารวัตรคนเก่งคนนี้ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ มิลเดรดยังต้องไปเจอหัวเชื้อทางอารมณ์อย่างดิกซอน (รับบทโดยแซม ร็อกเวลล์) อีกหนึ่งตัวละครสีเทา นายตำรวจที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมงี่เง่า เอาแต่ใจ ที่พร้อมจะปกป้องวิลเลอร์บีโดยไม่คำนึงวิธีการ ไม่ต่างกับที่มิลเดรดยอมทำทุกอย่างเพื่อลูกของเธอ การพบกันของทั้งคู่เลยกลายเป็นสนามรบทางอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดและไม่น่าอภัย
แต่ก็เพราะความที่ทั้งคู่ต่างสลับกันผิดพลาดไปมา ไม่มีใครถูกต้อง 100% นี่ล่ะ ที่ทำให้เรื่องนี้เป็นหนังดราม่าที่ไม่ใช่มีแต่ฉากบีบเค้นอารมณ์ แต่ยังเป็นหนังดราม่าที่สนุกและเต็มไปด้วยผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา
ในครึ่งแรกเราจะได้เห็นการ ‘ต่อสู้’ อย่างมุทะลุสุดลิ่มทิ่มประตูของป้าบิลบอร์ดกับนายตำรวจขี้โมโหกันแบบเต็มๆ ส่วนครึ่งหลังหนังจะค่อยๆ เพิ่มรายละเอียดที่ทำให้ทั้งสองคนเห็นข้อผิดพลาดและเข้าใจความผิดพลาดของตัวเองทีละน้อย แต่ทั้งคู่ก็ยังพร้อมที่จะถลำลึกลงไปกับความมั่นใจของตัวเองมากขึ้นไปอีก จนเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ทั้งคู่ถอยออกมาจากมุมของตัวเอง จนเริ่มยอมรับความผิดพลาดและเข้าใจความรู้สึกของอีกฝั่งมากขึ้น ความเขม็งเกลียวทั้งหมดจึงค่อยๆ ผ่อนคลายลงและนำไปสู่การหาทางออกด้วย ‘เหตุผล’ ที่ทั้งคู่หลงลืมไปตั้งแต่แรก
การแสดงออกในภาวะเช่นนี้ ทำให้คนดูทั้งรักทั้งชังตัวละครได้มากขึ้น แน่นอนว่าตัวละครแต่ละตัวย่อมเรียกร้อง ‘ทักษะ’ จากนักแสดงที่มารับบทนั้นๆ เป็นอย่างมาก และฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ กับ แซม ร็อกเวลล์ ก็ฝากฝีมือการแสดงในเรื่องนี้ได้อย่างไร้ที่ติ
ตัวละคร ดิกซอน คือนายตำรวจที่มีความหลากหลายทางอารมณ์สูงมาก เขาต้องแบกรับคุณลักษณะหลายอย่าง ตั้งแต่ขี้โมโห เอาแต่ใจ บ้าคลั่ง เหยียดผิว รักคนแบบไม่ลืมหูลืมตา เป็นลูกแหง่ติดแม่ เกลียดเกย์ (แต่ตัวเองก็มีแนวโน้มเบี่ยงเบนเช่นกัน) หลายครั้งเขาคือผู้กุมอำนาจ แต่หลายครั้งชีวิตก็ตกอับจนแทบทำอะไรไม่เป็น ซึ่งแซม ร็อกเวลล์ ควบคุมทุกคุณลักษณะทั้งหมดให้อยู่ในตัวคนคนเดียวได้แบบไม่มีขาดหรือเกิน
แซม ร็อกเวลล์ ทำให้เราเกลียดดิกซอนในตอนไร้เหตุผลได้แบบเข้าไส้ แต่ในขณะเดียวกันแซมก็ทำให้เรารักดิกซอนได้จับใจเหมือนกัน เมื่อเขาตัดสินใจเสี่ยงตายเพื่อรักษาแฟ้มคดีของมิลเดรดเอาไว้ และเรากล้าพูดได้ว่าเขาเหมาะสมแล้วกับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในปีนี้จริงๆ
ส่วนฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ก็แสดงได้สมศักดิ์ศรีรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมครั้งที่ 2 อย่างที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ ไม่เพียงแต่ ‘เทคนิค’ ทางการแสดงที่คงไม่ต้องพูดกันมากสำหรับนักแสดงระดับนี้ แต่ฟรานเซสกับบทมิลเดรด เฮย์สในครั้งนี้ บียอนด์ไปไกลถึงขนาดเราเชื่อได้ว่าเธอคือคนคนเดียวกันจริงๆ
ทั้งรูปร่างหน้าตา ลักษณะท่าทาง และองค์ประกอบทั้งหมด สมแล้วกับคำพูดของผู้กำกับมาร์ติน แม็กดอนนา บอกเอาไว้ว่า บทมิลเดรดถูกเขียนขึ้นมาจากตัวฟรานเซสโดยเฉพาะ และภาพที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเขาคิดไม่ผิด และเรานึกไม่ออกจริงๆ ว่านักแสดงหญิงคนไหนที่เหมาะสมกับบทนี้ไปมากกว่าเธอ
แต่สิ่งที่เราชอบมากที่สุดในการแสดงของฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ กลับไม่ใช่ช่วงเวลาที่เธอเสียใจ ผิดหวัง หรือเกรี้ยวกราด ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของมิลเดรด เฮย์ส แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งความทุกข์ เริ่มมีรอยยิ้มและประกายแห่งความเข้าใจเล็กๆ ปรากฏขึ้นมาบนดวงตาของเธอ จากการที่เธอสร้างมิลเดรดให้เป็นคนที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับการ ‘ยอมรับ’ มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่เธอลดอัตตาลงจนเบาบาง ถึงขนาดยอมกล่าวขอบคุณและสารภาพผิดกับดิกซอนศัตรูคู่แค้นที่ขับเคี่ยวกันมาทั้งเรื่อง
ฉากนั้นอาจกินเวลาแค่ไม่กี่วินาทีในหนัง แต่กลับสร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่และค้างอยู่ในใจคนดูไปได้อีกนาน จนถึงขนาดที่ตุ๊กตาทองคำในปีนี้ยังต้องกางแขนโอบกอดโมเมนต์ที่แสนดีแบบนี้เอาไว้ให้กับเธอ