ภูมิอากาศโลกนั้นค่อนข้างซับซ้อน ประกอบขึ้นด้วย 5 ระบบใหญ่ อันได้แก่ ชั้นบรรยากาศ เปลือกโลกชั้นบน ทะเลและมหาสมุทร ชั้นน้ำแข็ง และเหล่าสิ่งมีชีวิต ในการศึกษาเรื่องโลกร้อน เราพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนั้นไม่ได้มีลักษณะพุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่มีลักษณะที่ ‘ผล’ ของโลกร้อนในระบบหนึ่ง เกิด ‘การวนกลับ’ ไปส่งเสริมหรือตัดทอน ‘สาเหตุ’ ของโลกร้อนในระบบเดียวกัน หรือบางทีก็อาจข้ามไปสู่ระบบอื่นด้วย เราเรียกลักษณะการวนกลับนี้ว่า ‘การป้อนกลับทางภูมิอากาศ’ (Climate Feedback)
อะไรคือ ‘การวนกลับ’ ไปส่งเสริมหรือตัดทอน และการป้อนกลับมีกี่แบบ?
ลองจินตนาการถึงการกู้เงิน หากเราจ่ายเงินกู้ไม่ทัน ดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะกลับไปทบต้น ทำให้เราเป็นหนี้มากขึ้น เปรียบได้กับการป้อนกลับทางภูมิอากาศที่มีลักษณะส่งเสริมสาเหตุของโลกร้อนให้เพิ่มมากขึ้น เราเรียกการป้อนกลับแบบนี้ว่า การป้อนกลับเชิงบวก (Positive Climate Feedback) ซึ่งส่งผลร้ายกับโลก
ตัวอย่างของวงรอบการป้อนกลับเชิงบวก เช่น การละลายตัวของเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) หรือชั้นดินเยือกแข็งที่เต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจกที่มีน้ำหนักหลายพันล้านตันในอาร์กติก เมื่อโลกร้อนขึ้นจากก๊าซเหล่านี้ ก็จะเกิดการป้อนกลับให้เกิดสภาพเรือนกระจกมากขึ้น เพอร์มาฟรอสต์ก็ละลายเพิ่มขึ้นอีก
ในทางตรงข้าม หากเราเอาเงินสดไปโปะหนี้ ผลคือจะเกิดการลดต้นลดดอก ทำให้เราเป็นหนี้น้อยลง เปรียบได้กับการป้อนกลับทางภูมิอากาศที่มีลักษณะตัดทอนสาเหตุของโลกร้อนให้ลดน้อยลง เราเรียกการป้อนกลับแบบนี้ว่า การป้อนกลับเชิงลบ (Negative Climate Feedback) ซึ่งส่งผลดีกับโลก
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำที่ผิวมหาสมุทรจะระเหยเป็นไอก่อตัวเป็นเมฆมากขึ้น เมฆที่มีปริมาณมากในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ก็จะเกิดการป้อนกลับเชิงลบ คือทำให้ค่าอัลบีโด (ค่าการสะท้อนแสงของพื้นผิว) เพิ่มขึ้น สะท้อนแสงอาทิตย์สู่อวกาศมากขึ้น ทำให้ความร้อนโดยรวมลดลง
ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับวงรอบการป้อนกลับทางภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าซ้ำเติมโลกร้อน
ทีมงานของ วิลเลียม ริปเปิล ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยนานาชาติจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ได้ติดตามตรวจสอบวงรอบการป้อนกลับทางภูมิอากาศจำนวนทั้งสิ้น 41 วง และพบว่าในจำนวนนี้มีเพียง 7 วงรอบการป้อนกลับเท่านั้นที่เป็นแบบเชิงลบ มี 7 วงที่ไม่ชัดเจน และมีวงรอบการป้อนกลับเชิงบวก (Positive Climate Feedback) ที่ส่งผลร้ายกับโลกมากถึง 27 วง
คริสโตเฟอร์ โวลฟ์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“เท่าที่ทราบ งานของเรามีความครอบคลุมมากที่สุดแล้วในด้านงานวิจัยเกี่ยวกับการป้อนกลับทางภูมิอากาศ
“แบบจำลองภูมิอากาศที่เคยใช้งานกันมายังไม่ครอบคลุมวงรอบการป้อนกลับขนาดใหญ่และซับซ้อนแบบนี้ มันประเมินค่าโลกร้อนออกมาต่ำเกินไป เราต้องรีบสร้างแบบจำลองที่ครอบคลุมกว่าเดิม เพื่อติดตามผลกระทบได้อย่างทันท่วงที”
ผลการศึกษาของทีมยังพบว่าการป้อนกลับทางภูมิอากาศสามารถส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกัน และยังข้ามไประบบอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่นการป้อนกลับเชิงบวกจากการละลายตัวของเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) หรือชั้นดินเยือกแข็งที่กล่าวมาข้างต้น จะก่อให้เกิดสภาพอากาศร้อนแล้งขึ้นมาในระบบของชั้นบรรยากาศ ผลก็คือทำให้เกิดไฟป่าง่ายขึ้น ไฟป่าซึ่งจัดอยู่ในระบบของสิ่งมีชีวิตนั้นเมื่อเผาไหม้เป็นบริเวณกว้างก็จะก่อมลพิษข้ามไประบบอื่นอีก สุดท้ายจะเกิดเป็นวงรอบการป้อนกลับขนาดใหญ่หลายระบบที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น
“การเชื่อมต่อระหว่างกันข้ามระบบเหล่านี้ ทำให้การคาดการณ์ผลกระทบที่แม่นยำของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องยากและท้าทาย” ศาสตราจารย์ริปเปิล กล่าว
“นั่นคือเหตุผลที่ทีมของเราเข้ามาทำงานตรงนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สุด การป้อนกลับทางภูมิอากาศเชิงบวกจะก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนระดับวิกฤต เช่น การพังทลายของน้ำแข็งที่อาร์กติกและกรีนแลนด์ จนสุดที่มนุษย์จะแก้ไขหรือควบคุมได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า
“อาจสายเกินไปแล้วที่เราจะป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มร้อย แต่หากเราดำเนินการทุกด้านอย่างมีความหมายและเร็ว โดยเน้นที่การดูแลปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์และสังคมที่เท่าเทียม ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะจำกัดขอบเขตของอันตรายลงได้” ศาสตราจารย์ริปเปิลสรุปทิ้งท้าย
งานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร One Earth
ภาพ: Arterra / Universal Images Group via Getty Images
อ้างอิง: