×

นักวิชาการ-ภาคประชาชนผสานเสียง ค้านเลื่อนบังคับใช้ กม. อุ้มหาย ชี้เป็นการบกพร่องโดยรัฐ แต่เป็นภัยต่อประชาชน

20.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แถลงข่าวคัดค้านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหาย มองขัดหลักการออกพระราชกำหนด และไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทั้ง 4 มาตรา

 

ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้บังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เว้นแต่มาตรา 22, มาตรา 23, มาตรา 24 และมาตรา 25 ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 สาระสำคัญของทั้ง 4 มาตรา ได้แก่

 

– มาตรา 22 

ที่มีผลให้มีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน

 

– มาตรา 23 

ในการควบคุมตัวจะต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุม

 

– มาตรา 24 

ผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว เช่น ญาติ หรือทนายความ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23

 

– มาตรา 25 

เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบหรือศาลอาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23 หากผู้นั้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย โดยผู้อยู่ในอำนาจศาล และการเปิดเผยอาจละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว หรือก่อให้เกิดผลร้ายต่อบุคคล

 

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตามกฎหมายนั้นไม่มีอะไรที่ยากเลย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้กล้องมือถือในการบันทึกภาพและเสียงระหว่างการควบคุมตัวได้ จึงไม่ต้องมีการอบรม แต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบถึงแนวปฏิบัติ ดังนั้นตนจึงอยากตั้งคำถามไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าระหว่าง 120 วันที่ผ่านมานั้นทำสิ่งใดอยู่ ถึงจะต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 กระทำไปเพื่อปกปิดความผิดของท่านหรือไม่

 

ผศ.ดร.ปริญญายังกล่าวอีกว่า การร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่ชี้หลักการออก พ.ร.ก. ว่าจะต้องออกในกรณีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติทางสาธารณะ 

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญายังขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องส่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้รัฐสภาพิจารณา เพราะเป็นหน้าที่ของ ครม. โดยไม่ชักช้าตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตนยังกังวลว่าจะมีการเตะถ่วงหากไม่มีสภาผู้แทนราษฎร การเลื่อนการบังคับใช้ก็จะทำได้สะดวกเพราะไม่มีใครคอยคัดค้าน ในแง่ระยะเวลาตนมองว่ายังมีเวลาสำหรับการพิจารณา พ.ร.ก. ฉบับนี้อยู่ และตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองใดจะอนุมัติให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

 

ด้านสุรพงษ์ยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนได้มีการเตรียมพร้อมการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้ออกมาแถลงวานนี้ (19 กุมภาพันธ์) ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีความพร้อมที่จะบริหารการจัดการความยุติธรรมให้กฎหมายมีประสิทธิภาพได้ในทันที และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกมาตรา 

 

แต่หน่วยงานที่ไม่พร้อมคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ตำรวจก็ร่วมร่างกฎหมายมากว่า 10 ปี ทำให้รู้เห็นในเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ในที่ประชุมก็รับฟังความคิดเห็นของตำรวจมาโดยตลอด ตั้งแต่ขั้นยกร่างไปจนถึงการพิจารณา นอกจากนี้ในคณะกรรมาธิการก็มีตำรวจอยู่ด้วย แสดงว่าทราบเนื้อหากฎหมายมาโดยตลอด เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เคยมีคำสั่งในการปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ในคำสั่งที่ 178/2564 

 

สุรพงษ์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในมาตราที่ 22 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการระบุข้อความที่เปิดโอกาสในกรณีที่ไม่มีกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ว่า ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว ถือเป็นแนวทางที่จะช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการทำงานเป็นอย่างมาก ตนทิ้งท้ายไว้ว่าตนขอให้มีการยุติการดำเนินการดังกล่าว เพราะมันส่งผลร้ายอย่างมหาศาล ที่ผ่านมาสภาทนายความ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับเรื่องกรณีการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายจำนวนมากที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กรณีผู้กำกับโจ้ 

 

ด้านศราวุฒิระบุว่า การเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย 3-4 มาตรานั้นรัฐกระทำไม่ได้ และการอ้างเหตุผลที่ว่าการซื้อกล้องที่จะบันทึกภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะในกฎหมายมีมาตรการอื่นที่ตำรวจสามารถใช้อะไรก็ตามที่สามารถบันทึกได้นอกจากกล้องถ่ายรูป หากตำรวจเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนจะเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตซึ่งน่าเป็นห่วง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ. เรื่องการห้ามทรมานมาตรา 26 ซึ่งไม่ถูกขอเลื่อน ที่บอกว่าหากมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกทำร้าย ถูกทรมาน หรือถูกกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ก็ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลให้เกิดการไต่สวนสอบสวนได้ ตนมองว่าประชาชนยังพอมีที่พึ่งของกฎหมายฉบับนี้อยู่ และสุดท้ายตนอยากขอให้พรรคการเมืองไม่อนุมัติให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ผ่านไปได้ เพื่อให้กฎหมายกลับมาบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

 

ผศ.ดร.ปริญญายังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ฝ่ายวิชาการ ภาคประชาชน และองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย เพราะเรื่องนี้หารือกันมานานกว่าจะเป็น พ.ร.บ. และพรรคการเมืองทุกพรรคก็มีมติเอกฉันท์ในการผ่านกฎหมายฉบับนี้ แต่ตลอด 120 วันที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใส่ใจอย่างเพียงพอหรือไม่ 

 

“อยากจะกล่าวโทษนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วท่านก็เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ก. ในเรื่อง ซึ่งเป็นความบกพร่องของตัวท่านเอง ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนแต่ประการใดเลย เพราะเหตุการณ์นี้นั้นไม่ใช่เรื่องของภัยพิบัติสาธารณะ หรือภัยต่อประเทศชาติ จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ให้อำนาจฝ่ายบริหาร แต่การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปต่างหาก ที่จะทำให้เป็นภัยแก่ประชาชน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising