SCB CIO มองเศรษฐกิจโลกปี 2023 มีแนวโน้มแค่ชะลอตัวแต่ไม่ถดถอย ขณะที่การฟื้นตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในปี 2024 แนะนำสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูงและ Asian REITs โดยอาศัยจังหวะที่ตลาดพันธบัตรผันผวนจากประเด็นมุมมองดอกเบี้ยที่แตกต่างกันของตลาด กับสิ่งที่ธนาคารกลางหลักจะดำเนินการ ขณะที่การลงทุนในหุ้น ยังเน้นตลาดหุ้นจีนและไทยที่ได้อานิสงส์การเปิดเมืองเปิดประเทศเป็นหลัก
กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีแนวโน้มจะแค่ชะลอตัวแต่ไม่ถดถอย และจะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไปในปี 2024 โดยอ้างอิงจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ติดลบ (เศรษฐกิจโลกหดตัว) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย และเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตในช่วงปี 2023-2024 ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ในช่วงปี 2000-2019)
สำหรับปัจจัยบวกหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ ประกอบด้วย 1. การเปิดเมืองและเปิดประเทศของจีน 2. เศรษฐกิจยุโรปมีความแข็งแกร่งและสามารถจัดการกับวิกฤตพลังงานได้ดีกว่าคาด 3. ตลาดแรงงานทั่วโลกค่อนข้างแข็งแกร่ง บวกกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent Up Demand) หลังเปิดเมืองเปิดประเทศ ทำให้อุปสงค์ในประเทศส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่
- ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์
- ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่แม้ชะลอลง (Disinflation) แต่อาจชะลอช้า ทำให้ดอกเบี้ยต้องค้างในระดับสูงนาน
- ความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะจากความแตกต่างเรื่องดอกเบี้ยระหว่างสิ่งที่ตลาดคาดและสิ่งที่ธนาคารกลางหลักจะทำ
- ความเปราะบางของภาครัฐ ธุรกิจ และครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง
สำหรับท่าทีล่าสุดของธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่ยังคงส่งสัญญาณขึ้นต่อจนกว่าจะมีสัญญาณชัดว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย 2% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงต่อตามที่ตลาดคาดไว้ และประกาศเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QT) ในเดือนมีนาคมนี้ มีเพียงธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่เริ่มส่งสัญญาณใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจมีสัญญาณหดตัว
กำพลกล่าวว่า SCB CIO วิเคราะห์ว่าความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ตลาดคาดกับสิ่งที่ธนาคารกลางจะทำด้านดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินระยะข้างหน้า ล่าสุดตลาดเริ่มปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยสูงสุดปี 2023 ขึ้นจาก 4.75% เป็น 5.25% และการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นช้าลง จากปลายไตรมาส 2 ไปเป็นปลายไตรมาส 3 ขณะที่ถ้อยแถลงและ Dot Plot ล่าสุดของ Fed จากการประชุมเดือนธันวาคม 2022 Fed ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลงแต่ยังขึ้นต่อ และยังไม่มีการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปี 2023 SCB CIO ยังคงมุมมอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps แตะระดับสูงสุดที่ 5.25% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2023
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ประเมินว่า ยังเป็นโอกาสดีที่จะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง โดยความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง เงินเฟ้อที่ลงช้า ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และการขึ้นดอกเบี้ยต่อของ Fed ในช่วงครึ่งปีแรก ยังทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเร่งขึ้นในช่วงสั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง (Positive)
SCB CIO วิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวในช่วงที่เหลือของปี ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ
- การคาดการณ์เงินเฟ้อ ช่วงหลังชะลอลงจากราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง
- ตลาดแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจแม้มีโอกาสถดถอยน้อยลงมากแต่ยังคงชะลอตัว
“เราเชื่อว่าในภาพรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวน่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่การลดลงอย่างมีนัยน่าจะถูกเลื่อนออกไปเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีจะยังเป็นช่วงที่น่าสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูงอยู่”
นอกจากนี้ กลุ่มกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย หรือ Asian REITs ก็มีความน่าสนใจมากขี้น จากการเปิดเมืองเปิดประเทศของจีนและอาเซียน ส่งผลบวกต่ออัตราการเช่าและค่าเช่า (Occupancy Rates and Rental Rates) ในอนาคตของ REITs ทั้งในกลุ่มโรงแรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Retail and Industrial & Warehouse) โดยเฉพาะในไทยและสิงคโปร์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก โดย SCB CIO ประเมินว่า การกลับมาเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยและสิงคโปร์ขยับขึ้นในช่วงสั้นนี้ เป็นจังหวะดีที่จะเข้าทยอยสะสม REITs ของไทยและสิงคโปร์
กำพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในหุ้นยังคงมุมมอง Neutral เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากทั้งต้นทุนทางการเงินที่สูง และเริ่มเห็นกำไรเติบโตติดลบ โดยผลประกอบการไตรมาส 4/22 ที่ออกมาล่าสุดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และเวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่า 1) มีการหดตัวของอัตราการเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้เกิดความเสี่ยง Earning Recession (กำไร YoY หดตัว 2 ไตรมาสติด) และ 2) การลดลงของจำนวนบริษัทที่มีกำไรดีกว่าคาด (Earnings Positive Surprises) ในขณะที่การปรับลดคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นส่วนใหญ่เริ่มชะลอลง สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้นต่อผลประกอบการในอนาคตหลังความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลง แต่การคาดการณ์กำไรที่ดีขึ้นอาจทำให้โอกาสที่กำไรจะดีกว่าคาดทำได้ยากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ล่าสุด SCB CIO ได้ปรับมุมมองหุ้นยุโรปขึ้นเป็น Neutral จากการจัดการผลกระทบวิกฤตพลังงานที่ทำได้ดีกว่าคาด ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดตามไปด้วย ปรับมุมมองหุ้นอินโดนีเซียลงเป็น Neutral จากราคาถ่านหินซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักลดลง อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุด และมูลค่า (Valuation) ที่เริ่มกลับมาตึงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดย SCB CIO ยังเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน (A-Share: Positive; H-Share: Slightly Positive) และตลาดหุ้นไทย (Slightly Positive) จากอานิสงส์การเปิดเมืองเปิดประเทศที่จะมีต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการ รวมถึง Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- SCB EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็กในไทยยังฟื้นจากโควิดช้าและไม่เท่าเทียม แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ
- SCBX เร่งเครื่องขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวออกหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค
- SCB CIO หนุนลูกค้าเวลธ์ลงทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ โอกาสรับผลตอบแทนจูงใจช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ชู 1 ปี 1.75%