วันนี้ (16 กุมภาพันธ์) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตามมาตรา 152 รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าความแตกแยกในหมู่ประชาชนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนลุกลามบานปลายไปถึงวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันหลักของชาติทุกสถาบัน ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อ 50 ปีก่อน ก็มีผลงานอย่างเหตุการณ์ ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ สังหารประชาชนกว่า 3,000 ศพ เมื่อปี 2515 และเหตุการณ์ ‘เผาหมู่บ้านนาทราย’ จังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2517
“สิ่งที่ทำให้ประเทศเรามีทหารเป็นผู้เล่นหลักในทุกสนาม เหมาหมดในการดูแลความมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน ทำทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แต่พอเจอคลื่นลมเรือรบก็จมลงอย่างน่าอับอาย นับวันกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองผ่าน กอ.รมน. จนปัจจุบันการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปในลักษณะรัฐซ้อนรัฐอย่างเต็มรูปแบบ”
อมรัตน์อภิปรายต่อไปว่า การรัฐประหารสองครั้งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลง กอ.รมน. อย่างยิ่งใหญ่ อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภัยความมั่นคง พ.ศ. 2551 หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มาเป็นเลขาฯ กอ.รมน. ด้วย มีงบประมาณและกำลังพลส่วนตัว และจัดตั้ง กอ.รมน. ระดับภาคและระดับจังหวัดด้วย ทำให้โครงสร้างแบบรัฐซ้อนรัฐจะส่งผลระยะยาวต่อไป และตลอดไปหากไม่มีการแก้ไข แม้ว่าวันข้างหน้าเราจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนก็ตาม แต่โครงสร้างแบบนี้ที่กองทัพสร้างไว้ก็จะตามหลอกหลอนเราไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากที่ทหารยึดอำนาจเลย
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจล้นเหลือ ขยายออกไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่กิจของทหาร เรียกว่าเข้าไป ส. ทุกเรื่อง ที่ไม่ใช่เรื่องของตน ทั้งที่หน้าที่คือการดับไฟใต้สามจังหวัด แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เคยเบาบางลง แถมยังทวีความรุนแรงขึ้นทุกที กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่อันตรายที่สุดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา” อมรัตน์กล่าว
อมรัตน์เสนอว่า การดำเนินนโยบายความมั่นคงแบบเดิม โดยใช้ กอ.รมน. เข้าไปแก้ไขปัญหาทุกเรื่องด้วยวิธีคิดแบบทหาร กินงบประมาณโดยทหาร จะต้องยุติลงโดยทันที เอาทหารออกจากภารกิจความมั่นคงภายในโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเรือน รัฐบาลที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่จะต้องหยุดหมกมุ่นกับเรื่องหาศัตรูภายในชาติ ต้องไม่แช่แข็งตนเอง แล้วศึกษาความมั่นคงในโลกยุคใหม่
“รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องดำเนินนโยบายความมั่นคงที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยหลักการที่หนักแน่นว่า ความมั่นคงของประชาชน คือความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของทรราช” อมรัตน์กล่าว ก่อนให้ข้อเสนอ ดังนี้
- ยุบ กอ.รมน. โดยทำคู่กับการปฏิรูปกองทัพ
- ปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ตำแหน่งเลขาธิการมาจากพลเรือนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ
- แก้ไขกฎหมายความมั่นคง ทั้งกฎอัยการศึก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับมาตรา 116
- ให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงโรมว่าด้วยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
- ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นผลพวงจากการบริหารประเทศของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อมรัตน์ยังอภิปรายต่อไปว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์มีใจความว่า ปิดประตูนิรโทษกรรม จึงอยากฝากประธานสภาไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ว่า “พูดหมาๆ อย่างนั้นได้อย่างไร”
ทำให้ สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงว่า อมรัตน์พูดเร็วมาก ฟังได้ศัพท์บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งยังใส่ร้ายป้ายสี
ประธานสภาวินิจฉัยว่ายังไม่ผิดข้อบังคับ แต่ต่อมา นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงว่า อมรัตน์ใช้คำหยาบคาย
“สุภาพสตรีไม่น่ารักครับแบบนี้ สมาชิกที่เป็นสุภาพสตรีอย่างนี้ ไม่น่าละครับ ปากอย่างกับหมา” นิโรธกล่าว
ซึ่งประธานสภาได้ให้นิโรธถอนคำพูด