ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ หุ้น KEX เคยเป็นอดีตหุ้นมหาชนที่นักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการซื้อขาย สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายวันแรกที่สูงถึง 464 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมดราว 1,740 ล้านหุ้น
แต่หลังจากนั้น เคอรี่ (KEX) กลับกลายเป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่แทบจะหันหน้าหนี ท่ามกลางผลประกอบการที่ย่ำแย่ลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มูลค่าของบริษัทหายไปถึง 5 หมื่นล้านบาท จากราคาหุ้นที่เคยพุ่งไปสูงถึง 73 บาท ลดลงมาแตะระดับ 14.9 บาทในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘กลยุทธ์ราคา’ ช่วยทำให้ Kerry Express ทำลายสถิติยอดจัดส่งพัสดุปี 2564 โต 30% แต่ ‘กำไร’ หล่นวูบ 96.7%
- ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยแข่งเดือด ‘Kerry Logistics’ ขยายคลังสินค้า รองรับร้านค้าถล่มแคมเปญชิงยอดขาย
- สงครามราคาครั้งใหม่! Kerry Express เคาะราคาเริ่มต้น 15 บาท ส่วน Flash Express หั่นค่าส่งลง 10% สวนทาง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่ขึ้นราคาในรอบ 18 ปี
ในช่วง 2562-2563 เคอรี่ยังคงมีกำไรในกรอบ 1.3-1.4 พันล้านบาทต่อปี จากรายได้รวมประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 กำไรของเคอรี่ค่อยๆ หดตัวจนทรุดลงอย่างหนักในช่วงครึ่งปีหลัง
ไตรมาส 3 ปี 2564 เคอรี่มีกำไรสุทธิเพียง 12.8 ล้านบาท ก่อนที่จะพลิกเป็นขาดทุนสุทธิอีก 5 ไตรมาสติดต่อกัน จนทำให้ทั้งปี 2565 บริษัทต้องขาดทุนสุทธิมากถึง 2,829.8 ล้านบาท
- ไตรมาส 4 ปี 2564 ขาดทุน 604 ล้านบาท
- ไตรมาส 1 ปี 2565 ขาดทุน 491 ล้านบาท
- ไตรมาส 2 ปี 2565 ขาดทุน 732 ล้านบาท
- ไตรมาส 3 ปี 2565 ขาดทุน 674 ล้านบาท
- ไตรมาส 4 ปี 2565 ขาดทุน 932 ล้านบาท
ผลขาดทุนหนักที่เกิดขึ้นในปี 2565 บริษัทให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต้นทุนค่าน้ำมันและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเบาลง ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยมาเป็นแบบออฟไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านราคาก็รุนแรงมากขึ้นระหว่างผู้เล่นในธุรกิจ
จากปัจจัยกดดันเหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 9.7% เป็น 20,681.5 ล้านบาท สวนทางกับรายได้ที่ลดลง 9.6% มาเหลือ 17,003 ล้านบาท เนื่องจากราคาค่าจัดส่งที่ลดลง แม้ว่าปริมาณการจัดส่งพัสดุจะเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า
การขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์ของเคอรี่ในปี 2565 ลดลงไป 29.1% มาเหลือ 12,093.2 ล้านบาท ส่วนที่ลดลงไปอย่างมากคือเงินสดและเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่อง ลดลงไป 4,331.8 ล้านบาท มาเหลือเพียง 2,963.1 ล้านบาท
ปักธงปี 66 เน้นลดต้นทุน
สำหรับปี 2566 บริษัทวางแผนที่จะลดต้นทุนต่อหน่วยลงผ่านการลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรส่วนเกิน ปรับโครงสร้างของพนักงานในองค์กร ปิดสาขา จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน
บล.บัวหลวง ประเมินว่า ผลขาดทุนของเคอรี่ในไตรมาส 4 จำนวน 932 ล้านบาท แย่กว่าที่ตลาดคาด 75% แม้ว่าต้นทุนของบริษัทจะลดลง 10% จากปีก่อนหน้า แต่ด้วยกลยุทธ์ด้านราคาเชิงรุก ทำให้รายได้ต่อพัสดุลดลง 13%
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ เคอรี่มีแนวโน้มที่จะยังขาดทุนจากการดำเนินงานหลัก 1,972 ล้านบาท เนื่องจากจะยังคงสู้ด้วยการแข่งขันด้านราคา ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนโดยการนำระบบอัตโนมัติและดิจิทัลเข้ามาช่วย
ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถเป็นผู้เหลือรอดคนสุดท้ายในสงครามราคา จะเป็นอัปไซด์อย่างมาก แต่ บล.บัวหลวง มองว่าบทสรุปนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายไตรมาสก่อนที่บริษัทจะเริ่มพลิกกลับมามีกำไรอีกครั้ง