×

วันสุดท้ายของนักโทษประหาร: บทลงโทษที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ในทัศนะของวิกตอร์ อูโก

05.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • วรรณกรรมแปลภาษาฝรั่งเศสเรื่อง วันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour D’Un Condamné) ของวิกตอร์ อูโก ต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1829 โดยผู้ประพันธ์ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นหนึ่งวันหลังจากได้พบเห็นเพชฌฆาตกำลังซ้อม ‘ประหาร’ กับเครื่องกิโยตินที่ลานปลาซ เดอ แกรฟ
  • อูโกแสดงเจตจำนงต่อต้านโทษประหารผ่านตัวละครนักโทษคนหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลนิรนาม ไม่เอ่ยชื่อ ประวัติ และไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยความผิดอันใด โดยเล่าถึงความทุกข์ทรมานต่อความหวาดกลัวความตายที่กำลังจะมาถึง
  • การเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของอูโกมาสัมฤทธิ์ผลในปี 1981 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสมัยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกโทษดังกล่าวในที่สุด
  • ปัจจุบันชาติต่างๆ รวม 141 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว รวมทั้งฝรั่งเศสและกัมพูชา ขณะที่ประเทศไทยยังมีบทลงโทษนี้อยู่ ซึ่ง จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวถึงการเลือกหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์ว่า “เราเพียงแค่แบ่งปันความเห็นและให้กำลังใจแก่คนที่ต่อต้านโทษประหาร”

เราทุกคนล้วนถูกตัดสินประหารชีวิตโดยแขวนโทษไว้อย่างไม่มีกำหนด” – วิกตอร์ อูโก

 

ข้อความข้างต้นอาจจะเป็นตัวบ่งบอกทัศนคติบางอย่างเกี่ยวกับวิกตอร์ อูโก นักประพันธ์นามอุโฆษแห่งเมืองน้ำหอมผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนตัวยงที่ถ่ายทอดความคิดผ่านงานเขียนและการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสาธารณะตลอดชีวิต และถือเป็นพันธกิจในฐานะนักเขียนที่ต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม


หนึ่งในประเด็นที่นักประพันธ์แถวหน้าแห่งศตวรรษที่ 19 ต่อสู้มาโดยตลอดคือการถ่ายทอดแนวคิดต่อต้านการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการปลิดชีพ และสิ่งที่เราประจักษ์ผ่านงานเขียนเรื่อง วันสุดท้ายของนักโทษประหาร เหมือนเป็นการโยนคำถามให้ผู้อ่านและสังคมฝรั่งเศสในขณะนั้นขบคิดตามขณะไล่สายตาไประหว่างบรรทัดว่า กฎหมายที่อนุญาตให้รัฐเอาชีวิตคนคนหนึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 

หนังสือ วันสุดท้ายของนักโทษประหาร จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน

Photo: สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

โทษประหารคือการละเมิดสิทธิมนุษย์?

เราอาจจะเคยได้ยินหรือได้อ่านเรื่องของคนที่มีจิตใจกว้างพอที่จะยกโทษให้กับคนที่ทำร้ายตัวเอง หรือกระทั่งคนที่ฆ่าสมาชิกในครอบครัว


เรื่องจริงที่ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์อาจจะดูเป็นเทพนิยายขายฝันไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันเรามีฆาตกรทั้งวัยผู้ใหญ่และวัยเยาว์ที่พร้อมจะกราดยิงปลิดชีพคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ในโรงเรียนจนกลายเป็นข่าวพาดหัวสะเทือนขวัญคนทั้งโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ไหนจะข่าวฆ่าข่มขืนที่บั่นทอนจิตใจคนอ่าน และกระตุ้นให้หลายคนวกกลับมารณรงค์เรื่องเดิมครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเรียกร้องให้มีการลงทัณฑ์ฆาตกรข่มขืนด้วยบทลงโทษ ‘ประหารชีวิต’​ สถานเดียว อันเป็นคำตัดสินพิพากษาที่ผู้เรียกร้องเห็นพ้องกันว่าสาสมกับความผิดที่ฆาตกรกระทำ


มองจากมุมของเหยื่อที่ถูกกระทำ เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมคนส่วนหนึ่งถึงยืนกรานให้โทษประหารมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้มีมนุษยธรรมเป็นพื้นฐาน เราเชื่อกันว่าทุกคนมีสิทธิ์ก้าวพลาดในชีวิต และโอกาสที่สองอยู่ในวิสัยที่สังคมน่าจะมอบให้คนทำผิดเพื่อกลับตัวกลับใจได้

 

ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

Photo: สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้ความเห็นว่า “ผมมีความเชื่อนะว่าเมื่อคนเราทำผิด ทุกคนมีสิทธิ์กลับตัวกลับใจเสมอ ไม่ว่าจะทำผิดร้ายแรงแบบไหน แต่บางคนจะเชื่อว่าเขาไม่มีสิทธิ์แล้ว ผิดแล้วผิดเลย ไม่มีอะไรมาชดเชยได้


“แต่ผมคิดว่าเขายังทำอะไรแบบมนุษย์ได้ถ้าเขากลับตัวกลับใจ เขาก็มีสิทธิ์สำนึกได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นควรต้องไม่ทำผิดอีก ตัวเขาเท่านั้นที่จะต้องลงโทษตัวเองและชดเชยสิ่งที่เขาทำผิดนั้น ถ้าคุณไปปลิดชีวิตเขาแล้วมันก็จบ เราฆ่าเขาเพราะเขาฆ่าคน มันก็จะฆ่ากันต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีอำนาจใดที่จะมีสิทธิ์ไปปลิดชีวิตคนคนหนึ่ง ไม่ว่าคนคนนั้นจะทำอะไรก็ตาม ไม่ควรใช้โทษประหาร เพราะถือว่าเป็นการฆ่าอย่างเจตนามาก”


หากฝ่ายสนับสนุนให้มีโทษประหารจะแย้งว่า หากรัฐไม่ควรมีอำนาจในการพิพากษาปลิดชีพใครก็ตาม แล้วฆาตกรมีสิทธิ์อะไรที่จะไปฆ่าผู้บริสุทธิ์จนเหยื่อหมดโอกาสที่จะใช้สิทธิเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดร.โคทม ตอบง่ายๆ ว่า


“ไม่มี และเขาก็ต้องได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณลองคิดดู ที่ฆาตกรทำไปนั่นคือความผิด คุณก็เลยจะไปฆ่าเขา เพราะเขาฆ่าคน ทั้งๆ ที่เราก็ต่อต้านการฆ่าคนอยู่แล้ว แล้วมันจะไปถึงไหน แล้วมันจะหยุดการฆ่าไหม”

 

วรรณกรรม (ที่สะท้อนความโหดร้ายของโทษประหาร)

ในฐานะโต้โผที่ผลักดันให้เกิดการแปลวรรณกรรมเรื่อง Le Dernier Jour D’Un Condamné ของวิกตอร์ อูโก จนออกมาเป็นฉบับภาษาไทยชื่อ วันสุดท้ายของนักโทษประหาร สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน จัดงานเปิดตัวหนังสือเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา


ต้นฉบับตีพิมพ์ในเมืองน้ำหอมตั้งแต่ปี 1829 (พ.ศ. 2372) โดยผู้ประพันธ์แสดงเจตจำนงต่อต้านโทษประหารอย่างที่ปรากฏในสารสำคัญของเรื่อง และในฐานะปัจเจกบุคคลที่เรียกร้องผ่านเวทีการเมืองและเวทีสาธารณะให้ยกเลิกการปลิดชีพผู้กระทำผิด ความหวังของวิกตอร์มาสัมฤทธิ์ผลในปี 1981 หรือในอีก 152 ปีต่อมา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสมัยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกโทษดังกล่าวในที่สุด

 

จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

Photo: สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ชี้ว่ารัฐไม่ควรจะลดตัวไปอยู่ระดับเดียวกับอาชญากรด้วยการเลือกวิธีการฆ่าเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด และในฐานะผู้ปกครอง รัฐควรจะมีความเหนือกว่าในแง่คุณธรรมและเลือกวิธีการให้อภัยมากกว่าจะตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะโทษประหารเป็นเครื่องมือลงโทษที่ไม่ได้ผล และไม่ได้ช่วยลดอัตราอาชญากรรมแต่อย่างใด เมื่อดูจากผลการศึกษาหลายปีที่ผ่านมา


“เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมาเทศน์หรืออะไร แต่เราเพียงแค่แบ่งปันความเห็นและให้กำลังใจแก่คนที่ต่อต้านโทษประหาร” จิลส์ให้สัมภาษณ์ออกตัวกับทีม THE STANDARD


“โทษประหารเป็นการลงโทษขั้นร้ายแรงที่สุด และเราไม่ให้โอกาสที่สองให้คนทำผิดได้กลับตัวเลย สังคมไม่ควรจะละทิ้งโอกาสหรือความเป็นไปได้ใดๆ ที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งกลับมายืนในจุดที่ถูกต้องได้ นี่คือสารที่นิยายเรื่องนี้สื่อออกมา นักโทษรายนี้โดดเดี่ยวและจะต้องถูกลงโทษให้จบชีวิต และไม่มีใครจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้” เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยกล่าว

 

กรรณิกา จรรย์แสง ผู้แปล

Photo: สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

กรรณิกา จรรย์แสง ผู้แปล เผยถึงความประทับใจเมื่อได้อ่านต้นฉบับว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาเขียนด้วยใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้อ่านหนังสือมันจะมีอยู่ตอนหนึ่งที่ไปอ่านคำนำที่นักเขียนเขาเขียนเอาไว้ว่า เขาเลือกเขียนหนังสือเล่มนี้วันรุ่งขึ้นหลังจากที่มีการประหารชีวิต และทุกครั้งที่มีการประหารชีวิตก็จะได้ยินเสียงผู้คนที่ฝรั่งเศสวิ่งไปมุงดูลานประหารด้วยความยินดีปรีดา ส่งเสียงโห่ร้อง ในขณะที่ตัวคนเขียนเองอยู่ที่บ้านแล้วก็จะจินตนาการทั้งวันว่ามันเกิดอะไรกับนักโทษประหารเหล่านี้ จนกระทั่งเวลาบ่าย 4 โมงตรง ซึ่งเป็นตอนจบของหนังสือ และเป็นเวลาประจำของการประหารนักโทษก็จะรู้สึกว่าตัวเองหงุดหงิดเป็นพิเศษ


“ในฐานะคนแปลที่ได้อ่านคำนำ รู้สึกเลยว่า โอ้โห อะไรจะเป็นมนุษย์ได้ปานนี้ (หัวเราะ) เป็นคนที่มีจิตใจสูงอีกระดับหนึ่ง แล้วไม่ใช่แค่พูดหรือเขียนอย่างเดียว แต่เขาทำด้วย เพราะเขาเป็นนักการเมือง ตลอดชีวิตเขาไม่เคยยุติที่จะรณรงค์เรื่องนี้ในเวทีทางการเมืองและเวทีสาธารณะ วิกตอร์ อูโก เป็นที่น่านับถืออย่างมาก เพราะเขาเป็นนักเขียนเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งนานๆ ทีที่จะได้เจอนักเขียนแบบนี้”


จากเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 ผู้ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองจะมีการต่อสู้กัน และจบลงด้วยคนที่แพ้จะโดนกิโยติน เพราะฉะนั้นการลงโทษประหารชีวิตไม่ได้ตัดสินแค่อาชญากร แต่รวมไปถึงนักโทษทางการเมือง ซึ่งในความคิดของผู้แปลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ถูกประหารอาจจะไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ตกเป็นเหยื่อของอีกฟากหนึ่งของการต่อสู้


“ในทัศนะนักมนุษยธรรมแบบวิกตอร์ อูโก มันไม่ถูกต้อง เพราะเพียงแค่คิดต่างก็ต้องถูกฆ่าแล้ว หรือแม้กระทั่งอาชญากรธรรมดาเขาก็คิดว่าไม่ถูก เพราะคนทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะชี้เป็นชี้ตายใคร เพราะเขาเกิดในยุคนั้น ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง และจบลงด้วยการฆ่าคน ซึ่งคนตายด้วยเครื่องกิโยตินก็คงกระทบจิตใจของนักเขียนหรือศิลปิน เพราะเขาก็คือศิลปินคนหนึ่ง” ผู้แปลให้ความเห็น

 

วิกตอร์ อูโก นักเขียนบทละคร นักประพันธ์ ศิลปิน รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 19

Photo: www.catholiclane.com

 

ไม่ว่าทัศนะในเรื่องนี้ของคนอ่านแต่ละคนจะเป็นอย่างไร การพลิกหน้ากระดาษอ่าน วันสุดท้ายของนักโทษประหาร อาจจะทำให้แต่ละคนคล้อยตามผู้ประพันธ์ต้นฉบับได้ไม่ยาก


วิกตอร์ อูโก บรรยายความรู้สึกของตัวละครเอกขณะรับฟังคำพิพากษาไว้ว่า


“หน้าต่างห้องเปิดกว้างอยู่ ทั้งอากาศและเสียงจากเมืองที่อยู่ด้านนอกไหลเข้ามาได้อย่างเสรี ในห้องสว่างสดใสเหมือนจัดงานเลี้ยงฉลอง ลำแสงเจิดจรัสของดวงตะวันทอทาบตัดกันเป็นแสงสว่างสดใสตามทางเดิน ไม่ก็ทอดลำยาวไปบนพื้นห้อง บนแผ่นโต๊ะ หรือทำแสงหักเหอยู่ตามมุมผนังกำแพงจากแสงทอประกายเจิดจ้าตรงหน้าต่าง ทอดเข้ามาทำมุมตัดกันเป็นแสงปริซึม เป็นละอองสีทองในอากาศ…”

 

ผู้เขียนบรรยายภาพของตัวเอกเป็นปุถุชนที่มีความคิดความอ่าน มีมารยาททางสังคม รักอิสระ และไม่คุ้นชินกับภาษาสแลงแบบคนคุกที่เพื่อนนักโทษพยายามยัดเยียดสอนให้ เหมือนให้ภาพของสุภาพชนนายหนึ่งที่มีเหตุให้ก่ออาชญากรรมปลิดชีพใครบางคนแล้วต้องมาตกระกำลำบาก ใช้ชีวิตในที่อันไม่สมควร และรอวันตัดสินชี้เป็นชี้ตายในภาวะที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองได้เลย ภาษาที่เพื่อนนักโทษใช้กัน “ฟังดูเหมือนแมงดากับหญิงชั่วเขาพูดกัน เวลาได้ยินใครพูดภาษาที่ว่านี้ขึ้นมา ให้รู้สึกเหมือนอะไรที่สกปรกเกรอะกรังราวกับมีใครเอาฟ่อนผ้าขี้ริ้วมาเขย่าๆ ใส่หน้าก็ไม่ปาน”

 

ในตอนหนึ่ง ผู้ประพันธ์บรรยายชีวิตในห้องขังของนักโทษรอประหารไว้ราวกับการถูกลิดรอนเสรีภาพอันพึงมีดังนี้


“ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองดังนี้ว่า ในเมื่อเรามีหนทางที่จะเขียน ก็ทำไมไม่ลงมือทำเล่า แต่จะเขียนเรื่องอะไรกัน ในเมื่อตัวนั้นติดกับอยู่ในผนังกำแพงหินเปลือยเย็นเฉียบสี่ด้าน เท้าก็ก้าวโดยอิสระไม่ได้ ก็ไม่มีเส้นขอบฟ้าให้มอง ส่วนเครื่องบันเทิงใจที่ทำไปทั้งวันเหมือนเครื่องจักรก็มีแต่การเฝ้ามองการเคลื่อนไหวช้าๆ ของลำแสงขาวซีดที่ส่องลอดผ่านช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนประตูหนาทึบที่ฝังอยู่บนกำแพงห้องทึบทึมเท่านั้นเอง”

 

เมื่อผู้เขียนตั้งธงเอาไว้แล้วว่ากฎหมายที่เขียนขึ้นโดยยินยอมให้มีการลงโทษประหารชีวิตคนคนหนึ่ง “ช่างอำมหิตและน่าสังเวชยิ่งนัก” วิกตอร์หวังว่า “บันทึกความในใจครั้งสุดท้ายของคนทุกข์ฉบับนี้อาจเป็นประโยชน์ขึ้นมาบ้าง…” ในแง่ที่ว่าอาจจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ออกกฎหมายที่ยินยอมให้มีบทลงโทษประหารชีวิตอยู่และผู้ที่มีอำนาจใช้บทลงโทษดังกล่าวได้ฉุกคิดและพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ทุกครั้งที่มีการแก้กฎหมาย หรือทุกครั้งที่ต้องเป็นผู้กำหนดบทลงโทษชี้เป็นชี้ตายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด


ประเด็นนี้ย่อมก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวาง หากผู้เขียนพยายามโน้มน้าวให้เราคล้อยตามด้วยวลีสะดุดใจที่ว่า “อะไรกันนี่! ทั้งดวงตะวัน ทั้งฤดูใบไม้ผลิ ท้องทุ่งที่ดอกไม้สะพรั่งบาน ฝูงนกที่ตื่นแต่เช้า หมู่เมฆ ต้นไม้ ธรรมชาติ เสรีภาพ ชีวิต ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของเราอีกต่อไปแล้ว!” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พรั่งพรูอยู่ในใจนักโทษรอวันประหาร ฝ่ายค้านอาจจะแย้งกลับด้วยคำถามพื้นๆ ว่า ก็ทั้งดวงตะวัน ทั้งฤดูใบไม้ผลิ ท้องทุ่งที่ดอกไม้สะพรั่งบาน ฝูงนกที่ตื่นแต่เช้า หมู่เมฆ ต้นไม้ ธรรมชาติ เสรีภาพทั้งหมดทั้งหลายที่ยกมาอ้างเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ถูกลิดรอนไปจากมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึกนึกคิด ด้วยฝีมือของนักโทษประหารผู้กระทำการอุกอาจปลิดชีวิตมนุษย์ด้วยกัน ก่อนจะมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ละเว้นโทษสูงสุดในชั้นศาลเพื่อโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการชื่นชมธรรมชาติรอบตัว

 

เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ฝ่ายสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารจะใช้หลักมนุษยธรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนการรณรงค์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การอ้างอิงเรื่องความเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่เน้นการให้อภัยและการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเป็นที่ตั้งได้รับการหยิบยกมาอ้างอิงเสมอ


“รัฐในอุดมคติไม่ควรจะลดตัวไปใช้ความรุนแรงอันเป็นวิธีการเดียวกันที่ฆาตกรใช้ปลิดชีพเหยื่อ การประหารชีวิตไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา” คือสารที่ทั้งผู้แต่งที่มีชีวิตในศตวรรษที่ 19 และฝ่ายรณรงค์ต่อต้านโทษประหารในปัจจุบันมีร่วมกัน


ในเรื่องนี้ วิกตอร์ยังเผยอารมณ์เย้ยหยันเสียดสีผ่านตัวละครเอกไร้ชื่อ เมื่อนักโทษประหารรายนี้เห็นว่าผู้คนสนใจการประหารชีวิตราวกับกำลังลุ้นมหรสพ มีการเช่าโต๊ะเก้าอี้ในบริเวณที่เกวียนนักโทษประหารวิ่งผ่าน จนอยากตะโกนถามกลับว่า

 

“มีใครอยากได้ที่นั่งตรงนี้ไหมเล่า” …ตรงที่ที่นักโทษนั่งอยู่ก่อนจะถูกนำตัวไปลานประหาร


ภาพความหวาดกลัวในช่วงชั่วโมงสุดท้ายแห่งชีวิตของนักโทษผู้ไม่อาจปฏิเสธ ต่อรอง หรือผัดผ่อนการลงทัณฑ์ปลีดชีพได้ ซ้อนทับด้วยการบรรยายให้เห็นความลิงโลดของผู้ชม ‘มหรสพแห่งความตาย’ เมื่อ “ฝูงชนนั่นอย่างไร หัวเราะหัวใคร่ กระโดดโลดเต้นย่ำพื้นโคลน ข้าพเจ้าไม่รับรู้อันใด ทำอาการเหมือนคนนอนหลับแล้วตกอยู่ในความฝัน”


เกือบจะครบ 200 ปีแล้วที่ผลงานต้นฉบับได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ “รูปแบบทางวรรณศิลป์ สารจากคนเขียนที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตในสังคมฝรั่งเศสในสมัยนั้นยังคงทันสมัยและยังคงเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ” ผู้แปลชี้

 

ภาพวาดประกอบหนังสือที่ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อปี 1829 โดยพอล การ์วานี

Photo: fr.wikipedia.org


ความเป็นจริงของโทษประหาร

ทุกวันนี้ ชาติต่างๆ รวม 141 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว รวมทั้งฝรั่งเศสและกัมพูชา ประเทศไทยยังมีบทลงโทษนี้อยู่ อย่างไรก็ดี การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 และหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน องค์การสหประชาชาติจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ


แน่นอนว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ฝ่ายต่อต้านโทษประหารจะถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ขณะที่คดี ‘เปรี้ยว’ ผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา อาจเป็นอุปสรรคสำคัญให้คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามที่จะยกเลิกโทษสูงสุดที่ว่า


แนวคิด ‘การคงโทษนี้ไว้เพื่อปรามให้เกรงกลัว’ กับการสนับสนุนให้ยกเลิก ‘เพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชน’ คงจะปะทะกันต่อไป ตราบที่ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้ แม้แต่ในฝรั่งเศสเอง การถกเถียงคงมีอยู่ต่อ


กรรณิกาเผยว่า “ในฝรั่งเศส เขายกเลิกโทษประหารเมื่อปี 1981 แต่ที่ยกเลิกกันได้เพราะประธานาธิบดีไปหาเสียงว่า ถ้าฉันเป็นประธานาธิบดี ฉันจะยกเลิก เขาเลยทำได้เพราะเสียงข้างมากในสภา ชาวบ้านจะโวยวายยังไง แต่ถ้าทำได้มันก็จบแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย แต่ว่ามันต้องยกประเด็นหลักการ สังคมไหนก็ตามไม่มีสิทธิ์ที่จะลงโทษด้วยการฆ่า มันไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้


“และอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ มีเพื่อนชาวแคนาดาบอกว่า ‘ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมสังคมไทยซึ่งห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตถึงไม่เคยมีใครยกประเด็นนี้มาพูด’ แล้วเราคิดว่าเป็นสังคมพุทธแท้ ในขณะที่คนของเขาซึ่งไม่ได้เป็นพุทธ ทุกคนไม่มีสิทธิ์มอบความตายอย่างจงใจให้ผู้ใดผู้หนึ่ง” ผู้แปลเสริม พร้อมยกคำพูดของดาไลลามะ เมื่อปี 1998 เพื่อเรียกร้องให้ยุติโทษประหารชีวิต และให้เราทุกคนมีส่วนร่วมยับยั้งการฆ่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า


“ความตายที่มาถึงตามกาลธรรมชาตินั้นเป็นกระบวนการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมบังคับของเราที่จะหยุดยั้ง แต่ความตายที่ถูกมอบให้อย่างจงใจต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเรื่องที่เลวร้าย รับได้ยากอย่างยิ่ง”


เมื่อพลิกจนถึงหน้าสุดท้ายของ วันสุดท้ายของนักโทษประหาร แล้ว ผู้อ่านแต่ละคนอาจจะได้แนวคิดเกี่ยวกับบทลงโทษสูงสุดสำหรับผู้กระทำผิดแตกต่างกันออกไป


ส่วนหนึ่งอาจจะคล้อยตามแนวคิดที่สนับสนุนให้ยกระดับสิทธิมนุษยชน อีกส่วนหนึ่งอาจจะมองสารในเล่มนี้แค่ว่า ‘เมื่อนักโทษประหารต้องการโอกาสอีกครั้งในชีวิต เมื่อคนทำผิดมองว่าโทษประหารป่าเถื่อน’ และคนทำผิดกฎหมายมีสิทธิ์วิพากษ์กฎหมายที่ตนละเมิดอย่างนั้นหรือ


วันสุดท้ายของนักโทษประหาร อาจจะกลายเป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่มีวันได้ข้อสรุปก็เป็นได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X