เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ประกาศกำไรสุทธิ 4Q65 ลดลง 23.6%QoQ และ 17%YoY อยู่ที่ 500 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 22% หลักๆ เป็นผลมาจากปริมาณขายแผงวงจร PCB ที่ลดลง 11.8%QoQ หลังจากลูกค้ากังวลสภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า กดดัน Gross Margin ลดลงมาต่ำสุดในรอบหลายไตรมาสที่ 21.1% ใน 4Q65
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานใน 1Q66 คาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ลดลง QoQ (Gross Margin คาดว่าจะต่ำกว่า 20%) ผลจากค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นในช่วง 4Q65 ทำให้ KCE ต้องซื้อวัตถุดิบในราคาสูง ซึ่งจะกระทบ Gross Margin โดยรวม แต่ชดเชยได้บางส่วนจากปริมาณขายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ โดยทางผู้บริหารมั่นใจว่า Gross Margin จะกลับขึ้นมาดีขึ้นได้ตั้งแต่ 2Q66 เป็นต้นไป จากแนวโน้มค่าเงินที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่ากำไร 1Q66 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี
ด้านผู้บริหาร KCE ประเมินรายได้จะเติบโต 4-6% ในปี 2566 จากแนวโน้มปริมาณความต้องการแผ่นวงจร PCB ที่เพิ่มขึ้น (ลูกค้ามีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามากกว่า 10%) ซึ่ง InnovestX Research มองว่าเป็นไปได้ เนื่องจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในยุโรปในเดือนมกราคม 2566 เช่น ฝรั่งเศส (เพิ่มขึ้น 9%YoY) อิตาลี (เพิ่มขึ้น 19%YoY)
นอกจากนี้สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรปคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปจะเพิ่มขึ้น 5%YoY ในปี 2566 จาก Pent Up Demand และคลายกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย หลังจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานเริ่มคลี่คลาย
ขณะที่ KCE เริ่มมีการเจรจากับซัพพลายเออร์ในการปรับลดค่า Supplement ลงในปีนี้ประมาณ 2-3 รอบ ก็ช่วยชดเชยการปรับลดราคาสินค้าให้กับลูกค้าที่มาเจรจาได้ระดับหนึ่ง (ลดลงประมาณ 1-2%)
กระทบอย่างไร:
เมื่อวานนี้ (8 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้น KCE ปรับลดลง 11.40%DoD อยู่ที่ระดับ 50.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.60%DoD อยู่ที่ระดับ 1,670.34 จุด
ความเห็นและกลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research มีมุมมองเชิงบวกต่อ KCE ในระยะกลางถึงยาว โดยจุดเด่นของ KCE คือเป็นผู้ผลิตแผงวงจรรายใหญ่ TOP 10 ของโลก ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะได้รับผลบวกจากปริมาณความต้องการแผงวงจรในรถยนต์เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีส่วนประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (ที่ต้องใช้แผงวงจร) ต่อคันมากกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไปประมาณ 3-6 เท่า
ด้วยเหตุนี้ KCE จึงมีแผนขยายการผลิตครั้งใหญ่ โดยเพิ่มกำลังการผลิตแผงวงจรชนิดพิเศษที่มี Margin สูงอีก 1 ล้านตารางฟุตต่อเดือน (จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3.6 ล้านตารางฟุตต่อเดือน) คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วง 2H67 ซึ่งจะเป็นการสอดรับกับปริมาณความต้องการแผงวงจรซับซ้อนสำหรับรถยนต์ที่เติบโตมากในอนาคต
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนที่ปัจจุบันราคาหุ้น KCE ปรับฐานลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำหาจังหวะเข้าซื้อที่ราคาระหว่าง 45-50 บาท (-1SD PE 2566 เท่ากับ 47 บาท) โดยเฉพาะช่วงรายงานผลประกอบการ 1Q66 ที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี และคาดว่าแนวโน้มจะกลับเติบโตดีอีกครั้งตั้งแต่ 2Q66 จาก Pent Up Demand และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ที่มีการขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่
โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ฐาน PER ที่ 30 เท่า ซึ่งเท่ากับ Mean ในรอบ 5 ปีของ KCE ได้ราคาเป้าหมายที่ 61.00 บาทต่อหุ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมากขึ้น และสงครามความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการแผงวงจร PCB โดยรวม