จากกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหามาตรการและแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกิน และขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้ต้องขังทางการเมือง กรณี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลุกขึ้นตอบญัตติด่วนด้วยวาจา ว่าในเรื่องดังกล่าวกระทรวงยุติธรรมให้ความสนใจอย่างเต็มที่ สำหรับเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง ได้มีประกาศสำคัญทางการแพทย์ระดับโลก คือประกาศโตเกียว 1975 ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะไปบังคับบัญชาหรือทำให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำทำอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้
โดยทันทีที่ทราบอาการของทานตะวันและอรวรรณ ถึงเรื่องของการอดอาหาร ตนได้ปรึกษาร่วมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และได้มีการย้ายโรงพยาบาลเพื่อรักษาชีวิตของทั้งตะวันและอรวรรณ
ทันทีที่พบว่าทั้งสองคนอดอาหาร จึงทำให้ร่างกายดึงพลังงานจากตับและกล้ามเนื้อมาใช้ ซึ่งทำให้น้ำหนักของตะวันและแบมลดลงกว่า 10 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 20% ดังนั้น กฎสำคัญทางการแพทย์เมื่ออดอาหารเป็นเวลา 14 วัน อาจทำให้เกิดอันตรายและถึงแก่ชีวิตได้
สมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะมีญัตติด่วนนี้ ทางกระทรวงยุติธรรมมีแนวทางที่พยายามจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งได้มีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อร่วมกำหนดกรอบทำงานร่วมกัน โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุป 4 แนวทาง ประกอบด้วย
- กระทรวงยุติธรรมพร้อมดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด
- กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบันที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีให้สามารถคุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ ซึ่งรวมถึงการคุมขังที่บ้านด้วย
- กระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผ่านกลไกของกระทรวงยุติธรรม
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะให้การสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง