ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ -เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้
ชีวิตมนุษย์พึ่งพาธรรมชาติ มนุษย์ต้องดูแลรักษาธรรมชาติ -เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้
แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าธรรมชาติเหมือนกัน แต่ภูมิประเทศแต่ละพื้นที่นั้นต้องพึ่งพาวิธีการ ‘รักษ์’ และฟื้นฟูที่ไม่เหมือนกัน
แรกเริ่มจากภูผา
เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง การ ‘รักษ์’ ระบบนิเวศตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างป่าต้นน้ำจึงสำคัญมาก เพื่อแก้ปัญหาในวันที่น้ำแห้งเหือดหรือน้ำป่าไหลหลาก เครื่องมือฟื้นฟูดูแลทรัพยากรน้ำในพื้นที่ต้นน้ำแบบง่ายๆ ที่ชุมชนสามารถร่วมมือกันทำเองได้ก็คือการสร้าง ‘ฝายชะลอน้ำ’
แม้รายละเอียดการสร้างฝายในแต่ละผืนป่าจะแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้ววัสดุที่ใช้มักเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติบริเวณนั้น เช่น ไม้ไผ่ ก้อนหิน ขอนไม้ มาช่วยชะลอการไหลของน้ำ ดักตะกอนหิน และหากมีฝายชะลอน้ำจำนวนมากพอก็ยิ่งช่วยชะลอให้น้ำในแต่ละพื้นที่ไหลเบาบางลง คงอยู่ในพื้นที่นานขึ้น ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น คืนความสมดุลให้ระบบนิเวศ และยับยั้งน้ำที่อาจไหลเข้าท่วมชุมชนใกล้เคียงได้ แต่ก็ใช่ว่าฝายจะเหมาะสมกับทุกป่า หากป่านั้นอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ฝายก็ไม่มีความจำเป็นเลย เราจึงควรเลือกผืนป่าที่แห้งแล้งและเสื่อมโทรมเพื่อสร้างฝายฟื้นฟูเขา
หากจะให้เห็นภาพชัดกว่านั้น ชุมชนที่ผู้อาศัยพร้อมใจกันรักษ์ต้นน้ำตามแนวทางนี้คือ ชุมชนบ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่บริเวณรอบ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพนักงานเอสซีจีและชาวชุมชนในการสร้างฝาย ส่งผลให้จำนวนการเกิดไฟป่าลดลงจากปีละ 200-300 ครั้ง จนแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย และยังเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ลบภาพเดิมๆ ที่เคยเป็นป่าอันเงียบเหงาและเสื่อมโทรม
ต่อยอดไปถึงการสร้าง ‘บ่อพวง’ หรือการขุดสระกักเก็บน้ำที่ไหลต่อลงมาจากฝายตามลำดับชั้นของเชิงเขา จากสระน้ำขนาดใหญ่ไปสู่สระลูก สระหลาน เชื่อมต่อไปยังพื้นที่การเกษตรเพื่อช่วยให้ชุมชนบริเวณสันเขามีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี ดังเช่นที่โครงการปิดทองหลังพระ จังหวัดน่าน ที่ชาวบ้านสาแพะได้ไปศึกษาแล้วนำกลับมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยยินยอมเสียสละพื้นที่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชุมชนส่วนรวม
ระหว่างทางก็ต้องพัฒนา
เมื่อต้นน้ำได้รับความ ‘รักษ์’ อย่างพอเหมาะแล้ว เรื่องถัดมาที่ต้องใส่ใจก็คือการบริหารจัดการพื้นที่กลางน้ำด้วยระบบแก้มลิง หรือการสร้างแหล่งสำรองน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งจากการขุดลอกหนองน้ำเดิมเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก ก่อนทยอยระบายออกสู่ทางระบายน้ำหลักต่อไป เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการพัฒนาน้ำเพื่อการเกษตรที่เราคุ้นหูกันดี
ก่อนไหลสู่มหานทีที่ปลายทาง
พื้นที่ปลายน้ำอย่างท้องทะเลไทยเป็นได้ทั้งแหล่งหย่อนใจยอดฮิตของนักท่องเที่ยวและแหล่งทำมาหากินของเหล่าชาวประมงที่ใช้ชีวิตติดทะเล แต่ละวันจึงมีผู้คนผ่านไปมาและปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ขาด การฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ อย่างช่วยกันเก็บขยะ ทำความสะอาดพื้นที่ชายหาด ปลูกป่าชายเลน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ
หากมองออกไปยังริมทะเล บรรดาสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่อยู่ใต้ท้องน้ำนั้นนับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกที เอสซีจีจึงร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดสร้าง ‘บ้านปลา’ ด้วยท่อ PE100 ที่มีคุณสมบัติทนต่อการกัดกร่อน ทนแรงดันได้สูง มีอายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี และไม่ปล่อยสารเคมีอันตรายสู่ท้องทะเล เพื่อเพิ่มที่อาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งส่งผลต่อมาให้ชาวบ้านมีแหล่งทำประมงมากขึ้น มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และท้ายที่สุดคือสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี้คือแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เอสซีจีน้อมนำมาปรับใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป็นการคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศจากต้นจรดปลายน้ำที่จะไม่มีวันสำเร็จ หากปราศจากความเข้าใจและร่วมใจของทุกคน
ล่าสุดเอสซีจีจึงจัดทริป ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศและนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกจากการสร้างสรรค์ผลงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำด้วยตัวเอง และสุดท้ายคือการผลิตชิ้นงานเพื่อส่งต่อแนวคิด ‘ใจรักษ์น้ำ’ ให้กว้างไกลที่สุด พร้อมกับการเดินทางรักษ์น้ำจากต้นจรดปลายที่เอสซีจียังไม่หยุดเพียงทริปนี้ แต่ยังคงก้าวตามศาสตร์พระราชาต่อไปตลอดปี
อย่าลืมว่าการดูแล ‘รักษ์’ น้ำไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งได้ แต่การรักษาน้ำอย่างยั่งยืนที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ดูแลน้ำตลอดเส้นทาง…จากภูผา สู่มหานที
- ติดตามภาพบรรยากาศทริป ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCG