ความเป็นมาของ ‘Common Prosperity’
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2021 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ออกมาประกาศถึงความสำคัญของ ‘Common Prosperity’ หรือนโยบายที่มุ่งเน้นถึงความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันว่านี่คือสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนให้จีนสามารถเติบโตได้อย่างทันสมัยในแบบฉบับของตน และกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึงภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยมที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตุง (ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์) ที่เริ่มมีการกล่าวถึง ‘Common Prosperity’ ในปี 1953
เริ่มแรกจุดมุ่งหมายของ Common Prosperity คือการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของกลุ่มชาวนา ก่อนจะค่อยๆ ปรับมาเป็นแนวคิดหลักของประเทศเมื่อมีการทำอุตสาหกรรมมากขึ้นในช่วงการปกครองของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ในปี 1970 ซึ่งจีนค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่ประเทศเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตสินค้า
เติ้งเสี่ยวผิง มองว่าการทำให้คนบางกลุ่มสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ก่อนนั้นจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น และจะช่วยนำสังคมไปสู่ความเจริญร่วมกันตามที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของแนวคิดสังคมนิยมที่ฝังรากลึกทั้งทิศทางการกำหนดนโยบาย หรือแผนการพัฒนาต่างๆ ของประเทศจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาตรการคุมโควิดของจีนจ่อฉุดดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ถึงถ่านหิน ซึ่งมักพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
เหตุผลนี้ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นก้าวกระโดดในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตที่ว่านี้มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมเชิงรายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนเมืองและในชนบท รัฐบาลจีนจึงมีความจริงจังมากขึ้นที่จะดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดกับการเลี่ยงภาษีของกลุ่มคนรวย การพยายามให้บริษัทใหญ่บางกลุ่มบริจาคเงินของพวกเขากลับคืนสู่สังคม หรือจำกัดจำนวนชั่วโมงของพนักงานบริษัทเทคโนโลยีเพื่อลดรายได้ของพวกเขา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของนโยบายเพื่อที่จะต้องการกระจายรายได้ของกลุ่มคนรวยไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ให้ค่าความเท่าเทียมแต่แลกมาด้วยความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ‘Common Prosperity’ มีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม โดยส่งเสริมการเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมากขึ้น แต่หากมองอีกมุมเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านโยบายนี้ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองของชนชั้นการเมืองให้คงอยู่ต่อไป
David Moser ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Beijing Capital Normal กล่าวว่า “เหล่าเศรษฐีและบริษัทเทคโนโลยีในจีนนั้น เป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เนื่องจากอิทธิพลในด้านความกล้าที่จะคิดนอกกรอบแบบใหม่ ที่อาจส่งผลต่อความเห็นต่างด้านการปกครองทางการเมืองและสังคมของประชาชน” แต่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้มีใครมาสั่นคลอนความมั่นคงของระบอบการปกครอง ‘Common Prosperity’ ที่เป็นหัวใจหลักในการบริหารประเทศชาติมานานหลายทศวรรษ
หลังจากที่มีการประกาศยืนยันความจริงจังในการเดินหน้านโยบายต่อไป บวกกับปัจจัยที่ด้านผู้คุมกฎพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง อสังหาริมทรัพย์ โรงเรียนสอนพิเศษ (มูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์) หรืออุตสาหกรรมเกม ที่รัฐบาลสั่งไม่ให้เด็กและเยาวชนเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นักลงทุนในตลาดหุ้นจีนก็พากันเทขายหุ้นมูลค่ารวมถึงประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างชาติ สำนักข่าว People’s Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดทำบทความยืนยันว่า การออกมาควบคุมผ่านกฎเกณฑ์นโยบายต่างๆ มิได้มีเจตนาที่จะกีดกันหรือเพิ่มอุปสรรคต่อการทำธุรกิจแต่อย่างใด แม้ว่าการยืนยันจะเป็นแบบนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมที่ถูกวางแผนมาตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อปี 1970 จะยังคงเดินหน้าต่อไป การที่รัฐบาลยอมให้คนบางกลุ่มรวยขึ้นได้ก่อนนั้น เพื่อหวังให้กลุ่มที่รวยแล้ว “เป็นคนที่สามารถนำพาสังคมและชาวจีนไปสู่ Common Prosperity ในที่สุด” โดยมีผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาคือพรรคคอมมิวนิสต์จีน
มหาเศรษฐีจีนกังวลอะไรกับ Common Prosperity?
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นเหล่าคนดังที่อวดความรวยของตัวเอง หรือการพยายามเลี่ยงภาษีถูกลบข้อมูลออกไปจากระบบอินเทอร์เน็ตของจีน หน่วยงานกำกับเพิ่มความเข้มข้นที่จะพยายามสร้างความเท่าเทียมให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสลับครูหัวกะทิให้เวียนไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานของการศึกษาที่เท่ากัน หรือการให้บริษัท E-Commerce อย่าง JD CENTRAL มีสหภาพแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ
แต่ทางการจีนไม่ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อปฏิบัติที่ชัดเจนของแนวคิดสังคมนิยมและ Common Prosperity ความคลุมเครือนี้เองสร้างความไม่มั่นใจให้กับบริษัทต่างๆ ว่าจะมีกฎข้อบังคับอะไรที่รัฐบาลจีนจะออกมาแล้วมีผลกระทบกับธุรกิจของพวกเขาอีก นี่ก็คือสถานการณ์เดียวกันกับที่เศรษฐีจีนกำลังเผชิญ แต่พวกเขาก็ทำได้เพียงแต่ใช้เงินแก้ปัญหา โดยบริจาครายได้ให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพียงเพื่อจะหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานกลางของจีน
แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Alibaba บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ได้ให้สัญญาว่าจะร่วมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Common Prosperity ถึง 1 แสนล้านหยวน ไปจนถึงปี 2025 นอกจากนี้ บริษัทอย่าง Tencent จะสนับสนุนนโยบายเป็นเงินจำนวนเดียวกัน เห็นได้ว่าบริษัทที่มีการเติบโตสูงกลายเป็นกลุ่มหลักที่ต้องช่วยโครงการต่างๆ ของภาครัฐ
Moser กล่าวถึงแรงจูงใจหลักที่รัฐบาลจีนพยายามหาทางลดอำนาจของมหาเศรษฐีว่า “สีจิ้นผิงไม่อยากถูกมองว่าเขาอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนพวกนี้ การออกมาจำกัดอำนาจพวกเขานั้นถือเป็นการแสดงออกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และก็น่าจะได้ใจประชาชนทั่วไป”
การเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทำให้มหาเศรษฐีอีกหลายคนต้องถอยกลับ และมองตัวเองว่าบุคคลแบบใดที่พวกเขาควรจะเป็น เพื่อที่จะไม่เป็นการแสดงออกที่เกินหน้าเกินตาหรือสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน
จีนผ่อนคลายนโยบายหวังฟื้นเศรษฐกิจ แต่เศรษฐีและบริษัทเอกชนโล่งใจได้นานแค่ไหน?
จากความเข้มงวดและข้อจำกัดต่างๆ ของทางการจีนต่อบริษัทเอกชน เป็นเหมือนการซ้ำเติมบริษัทและมหาเศรษฐีที่ไม่เพียงแค่จะบอบช้ำเพราะผลกระทบจากโควิด แต่ก็ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยอุปสรรคที่ส่งผลทำให้รายได้ของพวกเขาลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา
แม้ว่าปลายปี 2022 ความเข้มงวดในการควบคุมเริ่มทุเลาลงจากการถอดนโยบายบางอย่างเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะงักมาหลายปี แต่นักวิเคราะห์มองว่าการผ่อนคลายครั้งนี้อาจจะอยู่ไม่นาน และอาจจะสิ้นสุดแค่ในปีนี้
“เมื่อสภาพเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ผมคิดว่าเราน่าจะได้เห็นจีนกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนเดือนพฤศจิกายน 2022” Moser มองว่าการกลับลำครั้งนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว และตัวเลขการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น ทางการจีนยังคงสามารถใช้อำนาจในนามผู้ถือหุ้นที่เรียกว่า ‘Golden Shares’ ที่ให้สิทธิพิเศษในการโหวตแก่ผู้ถือหุ้นนี้ ซึ่งคือหน่วยงานกลางจีนในการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจทางธุรกิจใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพันธกิจในการนำประเทศไปสู่ความเจริญร่วมกันยังไม่ได้หายไปเลย
Victor Sinh ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “บริษัทเทคโนโลยีอาจได้รับผลประโยชน์บางอย่างจากการที่ภาครัฐลดกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่ก็มีบางจุดที่ยังถูกควบคุม เช่น วิธีการชำระเงินหรือการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ เพราะฉะนั้นการปะทะกันของบริษัทเทคโนโลยีและรัฐบาลก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง”
การผ่อนคลายในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะอยู่ไม่นานเช่นกัน แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนนโยบาย ‘Three Red Lines’ ที่ออกมาครั้งแรกในปี 2020 เกี่ยวกับการบริหารจัดการสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ โดยเฉพาะกับการจำกัดจำนวนเงินกู้ของผู้ซื้อ ทำให้ยอดขายลดฮวบ และเกิดวิกฤตสภาพคล่องในบริษัทอสังหา
การผ่อนคลายนโยบายช่วยบรรเทาให้คนสามารถยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ มีวงเงินการกู้ยืมที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด ช่วยให้ราคาหุ้นกลุ่มอสังหาของจีนปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับรายได้ของมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการอสังหา แต่หากวิธีนี้ได้ผล สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ Sinh มองว่ารัฐบาลอาจไม่เหลือทางเลือกในอนาคต และต้องกลับลำในท้ายที่สุด
นักวิเคราะห์และนักธุรกิจชาวจีนของบริษัทชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Alibaba Group Holdings, Hangzhou Wahaha Group, และ Zhejiang Chint Electrics ออกมาแสดงความเห็นคล้ายกันว่า การผ่อนคลายนี้จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตได้
อย่างไรก็ตามการประชุมต่อต้านคอร์รัปชันเมื่อวันที่ 9 มกราคม ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ออกมาย้ำเตือนและต่อต้าน “การใช้เงินทุนเพื่อทำกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการขัดต่อระบบการเมืองหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ” นี่เป็นการประกาศเจตจำนงว่าเขาไม่ต้องการให้องค์กรเหล่านี้มีอำนาจมากเกินไป และควรจะอยู่ในการกำกับดูแลภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์
“การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจที่พึ่งการวางแผนจากหน่วยงานรัฐนั้นสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุน จากความเสี่ยงที่มีมากกว่าในการที่รัฐสามารถแทรกแซงตลาดได้ไม่ยาก สิ่งนี้ส่งผลให้ความน่าดึงดูดของการลงทุนลดลงไปด้วย” Xia Ming ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์กให้ความเห็นต่อสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง
ดังนั้น แนวโน้มที่การจัดระเบียบและควบคุมโดยรัฐบาลจีนในด้านต่างๆ คงจะยังไม่สิ้นสุดในเร็ววันนี้ ตราบใดที่หัวใจสำคัญอันเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของแนวคิด Common Prosperity ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าการออกนโยบายต่างๆ ในอนาคตจะต้องถูกพิจารณาร่วมกับแนวคิดนี้ว่าสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่
อ้างอิง:
- https://time.com/6095560/china-common-prosperity/
- https://www.forbes.com/sites/robertolsen/2023/01/13/can-chinas-billionaires-breathe-a-sigh-of-relief-in-2023/?sh=1a18d23f3655
- https://fortune.com/2022/12/31/china-reopening-zero-covid-economic-activity-falls-slowest-since-february-2020/
- https://www.reuters.com/world/china/what-is-chinas-common-prosperity-drive-why-does-it-matter-2021-09-02/
- http://www.cnfocus.com/understanding-the-idea-of-common-prosperity/