วานนี้ (23 มกราคม) ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศ โดยกล่าวว่า ‘นี่เป็นโอกาสเดียวเท่านั้น’ สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
คิชิดะกล่าวในการปราศรัยเชิงนโยบาย ณ การประชุมรัฐสภาว่า “ประเทศของเรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญว่าเราจะสามารถรักษาสมดุลทางสังคมไว้ได้หรือไม่”
“นี่เป็นโอกาสเดียวเท่านั้นในการผลักดันนโยบายด้านอัตราการเกิดและการเลี้ยงดูบุตร สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรอได้อีกต่อไป” คิชิดะกล่าว
นอกจากนี้คิชิดะยังระบุด้วยว่า เขาจะเสนอแผนการเพิ่มงบประมาณสำหรับนโยบายเกี่ยวกับเด็กขึ้นเป็นสองเท่าภายในเดือนมิถุนายน และจะจัดตั้งหน่วยงานรัฐบาลใหม่เพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะในเดือนเมษายน
คิชิดะกล่าวว่า นโยบายที่เตรียมออกมาเพื่อช่วยลดภาระของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรนั้น ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมให้คำมั่นว่าจะสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า อัตราการเกิดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรกในปี 2022 โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดน้อยลงนั้น เป็นเพราะคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มไม่อยากแต่งงานกันมากขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดจากมูลนิธิ Nippon Foundation เปิดเผยว่า มีวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นอายุ 17-19 ปี ถึง 17.4% ที่ระบุว่า พวกเขาไม่มีความคิดที่จะแต่งงานเลยในอนาคต เนื่องจากไม่อยากมีภาระทั้งในด้านการเงินและปัญหาชวนปวดหัวที่กระทบต่อจิตใจ
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 74.1% ยอมรับว่าพวกเขารู้สึกว่าภาวะอัตราการเกิดต่ำในญี่ปุ่นถือเป็นวิกฤตการณ์ที่น่ากังวล แต่ถึงเช่นนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งชายและหญิงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ภาระทางการเงิน’ เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลให้การศึกษาแก่เด็กทุกคนฟรี ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดได้
แฟ้มภาพ: Antonio Masiello / Getty Images
อ้างอิง: