วันนี้ (22 มกราคม) 8 องค์กรภาคประชาชน ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD), สถาบันสังคมประชาธิปไตย และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ถึงข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษากรณีการประกันตัว ถอนประกันและอนุญาตให้ถอนประกันผู้ต้องหานักกิจกรรมทางการเมือง เก็ท ใบปอ ตะวัน และแบม โดยมีรายละเอียดระบุว่า
จากกรณีที่ผู้ต้องหาทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีถูกขังก่อนและในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำนวนกว่า 15 คน โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว บางคนถูกกักขังมาแล้ว 300 กว่าวัน บางกรณีได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ Electronic Monitoring (EM) และบางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง และมีข้อกำหนดอื่นๆ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอีกมากมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ‘ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้’ วรรคสาม บัญญัติว่า ‘การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี’ และวรรคท้าย บัญญัติว่า ‘คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้…’
การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อผู้ต้องหาทางการเมืองเหล่านี้ปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีลักษณะที่ขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง พวกเขาไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้าม พวกเขาแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกในทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และพวกเขาต่อสู้เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล เป็นสถาบันที่สามารถอำนวยความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างแท้จริง
แต่คำสั่งศาลในการควบคุมตัวผู้ต้องหรือจำเลยทางการเมืองดังกล่าว ก่อนการพิจารณาคดีหรือก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นการออกคำสั่งเสมือนหนึ่งว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ไม่เป็นคำสั่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขประกอบกันที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพวกเขาอย่างร้ายแรง และขัดกับหลักความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนด้วย นั่นคือ ห้ามพวกเขากระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกับที่พนักงานอัยการกล่าวหา ซึ่งพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ จะต้องพิสูจน์ต่อศาลจนปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่าเป็นผู้กระทำผิดจริงตามที่กล่าวหา
ในหลักของความยุติธรรมทางอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และพวกเขากำลังโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานอัยการอยู่ เพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสินคดีของพวกเขาอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงและอคติ ด้วยความเป็นมืออาชีพ และบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 14 การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) และรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังจำต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ Electronic Monitoring (EM) และบางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง และอื่นๆ เสมือนเป็นการขังตัวไว้ที่บ้าน (House Arrest) อีกด้วย การต่อสู้คัดค้านคำสั่งของผู้พิพากษาบางคน ที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรมตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นมักไม่ได้ผล
เมื่อการเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่หมดสิ้นหนทาง การจะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองเหล่านั้นยอมจำนนกับคำสั่งที่ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขารับไม่ได้ จึงแสดงออกถึงการไม่ยอมรับตามวิถีทางประชาธิปไตย กล่าวคือ เมื่อ 16 มกราคม 2566 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม นักกิจกรรมหญิงทั้ง 2 ราย ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวชั่วคราวของตนเอง เพื่อประท้วงเรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึงดังที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้วนั้น ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
- การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
- เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ขณะนี้นักกิจกรรมทั้งสองได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 จนมีสภาพร่างกายอิดโรยและถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนหน้านี้วันที่ 14 มกราคม 2566 โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท และ ณัฐนิช ด้วงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ ได้ถูกคำสั่งของผู้พิพากษาท่านหนึ่งสั่งไต่สวนถอนประกัน ด้วยเหตุที่อ้างว่านักกิจกรรมสองรายนี้ปฏิบัติตนขัดเงื่อนไขการประกัน คือออกไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมในช่วงประชุม APEC ที่ประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565
การไต่สวนดังกล่าวส่งผลให้ผู้พิพากษาท่านนั้นสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวอีกต่อไป กลายเป็นคำสั่งขังนักกิจกรรมทั้งสองคนอย่างไม่เป็นธรรมในสายตาของหลายฝ่าย เมื่อการใช้อำนาจของผู้พิพากษาบางคนที่ไม่เป็นธรรม การที่กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายไทยมีข้อจำกัดหรือบิดเบือนไปทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ทั้งที่มีการใช้ดุลพินิจขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดกับกฎหมาย
กลุ่มองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ท่านในฐานะประธานของฝ่ายตุลาการ ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไข การถอนการประกันตัว อย่างเร่งด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและประชาคมนานาชาติต่อฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นเสาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทยกลับมา
ฝ่ายตุลาการต้องสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมได้อย่างแท้จริง ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตยต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดตรวจสอบและแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมืองดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
ภาพ: ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน