อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเยอรมนีมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ หลังศาลปกครองสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเมืองไลป์ซิก มีคำตัดสินชี้ขาดให้เมืองสตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟ สามารถบังคับกฎห้ามผู้ขับขี่ใช้รถยนต์ดีเซลเก่าและรถดีเซลบางรุ่นที่ก่อมลพิษมากในโซนที่มีการจราจรคับคั่งเพื่อลดมลพิษในอากาศ ถึงแม้ว่ารัฐบาลเยอรมนีและอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจะคัดค้านกฎแบนดังกล่าว เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการยึดคำพิพากษานี้เป็นมาตรฐานในการบังคับใช้กับเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้หลายรัฐในเยอรมนีได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินแบนของศาลท้องถิ่นในเมืองสตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟ เพราะวิตกว่าเจ้าของรถยนต์ดีเซลจะได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต อีกทั้งทำให้มูลค่ายานพาหนะของพวกเขาลดลงด้วย เช่นเดียวกับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำในดินแดนมาตุภูมิอย่าง Mercedes-Benz, BMW, Volkswagen และ Audi ที่ต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในสายการผลิตขนานใหญ่
ด้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม DUH ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลในเมืองสตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟระบุว่า กฎแบนดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเยอรมนี เนื่องจากในปีที่ผ่านมามี 70 เมืองทั่วประเทศที่วัดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในอากาศสูงเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปมีความเสี่ยงเกิดโรคทางเดินหายใจ โดย DUH หวังว่ากฎแบนนี้จะบีบให้ผู้ผลิตรถยนต์หยุดดื้อแพ่งและยอมปรับปรุงเครื่องยนต์ในรถรุ่นเก่าเพื่อให้ได้มาตรฐาน EU
คำสั่งของศาลปกครองยังส่งผลให้รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจกำหนดนโยบายได้ยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากในเวลานี้รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้ผลิตยานยนต์ลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 8 พันล้านยูโรเพื่อยกเครื่องรถยนต์ดีเซล แทนที่จะมุ่งลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับที่เป็นเทรนด์ในอนาคต
ความท้าทายในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กับภาพลักษณ์อุตสาหกรรมรถที่สวนทาง
แม้ที่ผ่านมาเยอรมนีจะผลักดันมาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ที่รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถสาธารณะฟรีในหลายเมืองเพื่อลดมลภาวะในอากาศ ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถกอบกู้ความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมยวดยานในการแก้ปัญหามลพิษได้
ก่อนหน้านี้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนีเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวที่บั่นทอนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือลงอย่างมาก เมื่อผู้ผลิตรถแบรนด์ดังหลายรายรวมถึง Volkswagen ออกมายอมรับในปี 2015 ว่า จงใจติดตั้งซอฟต์แวร์ที่โกงค่าการปล่อยมลพิษเพื่อให้สอบผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แต่กฎแบนใหม่จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ให้กับรถดีเซลหลายล้านคันเพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ์การใช้ถนน
ปัจจุบันเยอรมนีมีรถยนต์ดีเซลบนถนนประมาณ 15 ล้านคัน แต่มีเพียง 2.7 ล้านคันเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน EURO-6 ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศมีความนิยมซื้อรถดีเซลน้อยลงในช่วงหลัง โดยสัดส่วนรถดังกล่าวลดลงจาก 48% ในปี 2015 เหลือเพียงราวๆ 39% ในปีที่แล้ว ดังนั้นการทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่ออัปเกรดเครื่องยนต์และซอฟต์แวร์จึงดูไม่คุ้มค่าในสายตาของผู้ผลิต
สัญญาณบวกสู่ถนนสีเขียว?
นักวิเคราะห์มองว่า ถึงแม้เยอรมนีจะแก้ปัญหาก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่ปล่อยจากรถยนต์ดีเซลได้ แต่รถเหล่านี้ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี แม้จะในระดับที่ไม่มากก็ตาม ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจุดหนึ่งอาจนำไปสู่การตั้งโจทย์ใหม่เพื่อควบคุมปัญหามลพิษอีกจุด จนกว่าประชาชนทั่วประเทศจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังมองในแง่บวกว่า คำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความนิยมในรถพลังงานสะอาดเพื่อสร้างถนนสีเขียวที่ยั่งยืนได้เร็วยิ่งขึ้น
ClinentEarth บริษัทกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ร่วมต่อสู้ในคดีนี้เผยว่า ชัยชนะครั้งนี้จะมอบประโยชน์ด้านสุขภาพแก่ชาวเยอรมันอย่างมหาศาล และอาจส่งแรงกระเพื่อมไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะคำวินิจฉัยของศาลสร้างความชัดเจนแล้วว่า การควบคุมจำนวนรถยนต์ดีเซลบนถนนเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย และหลังจากนี้จะสร้างปรากฏการณ์โดมิโนไปยังเมืองอื่นๆ ในการต่อสู้กับคดีในลักษณะเดียวกัน
คำตัดสินในไลป์ซิก สะเทือนทั่วยุโรป
ก่อนหน้านี้มีหลายเมืองในยุโรปรวมถึงกรุงปารีส มาดริด และเอเธนส์ ได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะออกกฎแบนยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลบนถนนย่านใจกลางเมืองภายในปี 2025 ขณะที่นายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็เตรียมผลักดันกฎห้ามรถดีเซลรุ่นใหม่วิ่งเข้าเมือง ซึ่งอาจบังคับใช้ได้อย่างเร็วที่สุดภายในปีหน้า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบวกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย Evercore ISI แสดงความเห็นว่า การตัดสินของศาลปกครองเยอรมนีครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ที่แข็งแกร่งให้กับผู้คนได้ยึดเป็นแนวทางในการรณรงค์และต่อสู้เพื่อลดการใช้รถดีเซล ไม่เพียงแต่ในเยอรมนีเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงเมืองต่างๆ ทั่วภูมิภาคยุโรป เพราะยุโรปมีกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยมลพิษที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเมืองต่างๆ มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรฐานที่วางไว้
ไม่ว่าคำสั่งของศาลปกครองเยอรมนีจะมีผลให้เมืองอื่นๆ ยึดถือปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน แต่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า รถดีเซลกำลังอยู่ในช่วงขาลงเมื่อดูจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น เช่นเดียวกับแบรนด์รถแถวหน้าที่ทยอยปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการบ่ายหน้าออกจากเทคโนโลยีดีเซล และหันไปพัฒนารถพลังงานทางเลือกแทน
Photo: AFP
อ้างอิง: