วันนี้ (13 มกราคม) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นๆ สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
ประกาศดังกล่าวเป็นการให้ยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (Taxi-Meter) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงคมนาคมฯ พ.ศ. 2565 จะเริ่มมีผลบังคับให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารแท็กซี่อัตราใหม่ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปคือตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566 เป็นต้นไปนั้น
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามและมีความห่วงใยประชาชนที่โดยสารรถแท็กซี่ที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารดังกล่าว
“แม้การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารจะช่วยให้คนขับแท็กซี่มีรายได้ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ยังเป็นห่วงประชาชนที่โดยสารรถแท็กซี่ที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมจากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารดังกล่าว และเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้” อนุชากล่าว
อนุชากล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีรับรู้ถึงความเดือดร้อนของคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย ในขณะที่ค่าจ้าง / ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว จึงเป็นที่มาของการปรับค่าโดยสารในครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มคนขับแท็กซี่มีรายได้เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับดูแลเพิ่มเติมว่า เมื่อขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่แล้ว ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต้องเข้มงวดในเรื่องมารยาทของคนขับรถ ความปลอดภัย ความสะอาด ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากพบว่าแท็กซี่กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดในเรื่องบทลงโทษต่อไปโดยไม่ละเว้น
สำหรับรายละเอียดของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นๆ สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 บางส่วนระบุถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารคือ
- กรณีรถยนต์รับจ้างที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ให้กำหนดดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 40.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
- กรณีรถยนต์รับจ้างนอกจากข้อ 1 ให้กำหนดดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
– ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
นอกจากนี้กรณีรถตามข้อ 1 หรือ 2 ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3.00 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรถยนต์รับจ้างนั้น จอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรการค่าโดยสารอีก 50 บาท