ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ของจีนประจำเดือนธันวาคม ลดลง 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลข PPI ของเดือนพฤศจิกายนลดลง 1.3% จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของจีน ทั้งนี้ การชะลอตัวที่เกิดขึ้นมากกว่ามุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะลดลง 0.1% จากการสำรวจความเห็นโดย Bloomberg
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งสะท้อนถึงเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 1.8% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมความผันผวนของราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.7% หลังจากที่ตัวเลขไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 0.6% มา 3 เดือนติดต่อกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาตรการคุมโควิดของจีนจ่อฉุดดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ถึงถ่านหิน ซึ่งมักพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
Dong Lijuan หัวหน้านักสถิติของ NBS กล่าวว่า ราคาสินค้าต่างๆ ค่อนข้างคงตัวในเดือนธันวาคมเป็นเพราะมาตรการหลายด้านที่ช่วยรักษาระดับอุปสงค์และอุปทานให้คงที่
การลดลงของดัชนี PPI ที่มากกว่าคาด “สะท้อนความเสียหายจากโควิดต่ออุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมในเดือนที่ผ่านมา” Zhou Hao หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Guotai Junan International Holdings กล่าว
ด้าน Eric Zhu นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg กล่าวว่า ประตูด้านการผลิตของจีนค่อยๆ เปิดขึ้น แม้จะไม่เร็วเท่ากับที่เราคาดหวังไว้ แต่แนวโน้มชัดเจนมากขึ้น การชะลอลงของดัชนี PPI เพียงเล็กน้อย เป็นสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้ในปีนี้
ขณะที่ รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า ตัวเลข CPI ที่ยังต่ำกว่า 2% และต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ 3% ทำให้เรื่องของเงินเฟ้อในจีนยังไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก และจะทำให้จีนยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปได้
“หลังจากนี้จะค่อยๆ เห็นตัวเลข CPI และ PPI ค่อยๆ เพิ่มขึ้น หลังจีนกลับมาเปิดประเทศ แต่ด้วยบริบทที่ต่างออกไปจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะ Supply Shortage ที่บรรเทาลง ทำให้เงินเฟ้อของจีนอาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นรุนแรงเหมือนช่วงที่สหรัฐฯ เปิดเมือง ส่วนตัวมองว่าเงินเฟ้อของจีนยังไม่น่าจะทะลุ 3% ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน”
สำหรับตลาดหุ้นจีนซึ่ง Outperform ได้ในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ มีโอกาสจะโดดเด่นต่อไปในช่วงที่เหลือของปี หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนทิศทางของนโยบาย ทั้งการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID หรือการกลับมาสนับสนุนภาคเอกชน หลังจากคุมเข้มมาตั้งแต่ปลายปี 2020
ด้าน Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจีนของ Jones Lang LaSalle กล่าวว่า เงินเฟ้อของจีนในปี 2023 อาจจะยังคงตัวและควบคุมได้ และมีโอกาสไม่มากนักที่เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่นโยบายการเงินจะเป็นการเน้นไปที่การสร้างเสถียรภาพให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อ้างอิง: