×

บทเรียน ‘Flash Express’ ยิ่งสเกลธุรกิจใหญ่ ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นราคาไม่ได้! ขอเลื่อนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้ระดมทุนจนมีมาร์เก็ตแคป 7 หมื่นล้าน

09.01.2023
  • LOADING...
Flash Express

Flash Express ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย เดินหน้าพัฒนาคลังสินค้า ปั้นผู้บริหาร บุกตลาดต่างประเทศ พร้อมมุ่งบริการ F-Commerce หนุนคนดังขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม TikTok แย้มเลื่อนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเริ่มคิกออฟใหม่ในปี 2567 

 

คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ Flash Express กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาด E-Commerce ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะถ้าเทียบกับปี 2563 ตลาดมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วสูงถึง 200% 

 

แต่ในทางกลับกัน ในปีที่ผ่านมาตลาด E-Commerce กลับมีการชะลอตัวลง และจะเห็นว่าสถานการณ์ตลาดทุนของโลก ราคาหุ้นของบริษัท E-Commerce หายไปกว่า 60% ทำให้แพลตฟอร์มเริ่มกังวลและลดเม็ดเงินโฆษณาลง จึงไม่มีการกระตุ้นตลาด ทำให้ตลาดเริ่มชะลอตัว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แน่นอนว่าปีที่ผ่านมาเป็นมรสุมของผู้ประกอบการ แม้ปัจจุบันการแข่งขันจะน้อยกว่าในอดีต เพราะไม่มีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามา ปัจจุบันจะเน้นแข่งขันกันเรื่องเสถียรภาพในการบริการและการขนส่ง แต่สิ่งที่ทุกค่ายต้องเจอคือความท้าทายเรื่องกำลังซื้อ เห็นได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ที่ยังมีเหมือนเดิม แต่ยอดซื้อเฉลี่ยต่อบิลลดลง 15% โดยกลุ่มสินค้าที่มีการซื้อลดลงคือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่กลุ่มสินค้าในครัวเรือนมีการซื้อเพิ่มขึ้น 

 

เช่นเดียวกับ Flash Express กลายเป็นว่า ยิ่งสเกลธุรกิจใหญ่มากขึ้น ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งค่าจ้างพนักงานและต้นทุนพลังงาน ขนส่งต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด คลังสินค้าถูกปิด พนักงานบางส่วนติดโควิด ต้องจ้างพนักงานใหม่ๆ กว่า 7,000 คน ต้นทุนเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ปัจจุบันยังยึดราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 25 บาท

 

ดังนั้นจึงต้องลดคอร์สค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และที่ผ่านมาบริษัทมีการเปลี่ยนนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การปรับโครงสร้างภายใน เส้นทางเดินรถ และการบริหารงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมลูกค้า 

 

แม่ทัพ Flash Express กล่าวต่อถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา บริษัทได้ระดมทุนเสร็จเรียบร้อยแล้วได้เงินมา 15,000 ล้านบาท โดยการระดมทุนครั้งล่าสุดทำให้มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท และในงบส่วนนี้จะใช้ลงทุนในการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งบริษัทคาดหวังให้ตลาดต่างประเทศมีรายได้มากกว่าไทย 1-2 เท่า และยังได้เลื่อนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเริ่มคิกออฟใหม่ในปี 2567 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน Flash ได้เข้าไปทำตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ สปป.ลาว โดยตลาดที่เติบโตมากสุดคือฟิลิปปินส์ ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 100 ล้านคน ผู้คนมีการจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทขึ้นเป็น Top 3 ในตลาด E-Commerce ขณะที่ สปป.ลาว เจอความท้าทายเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมาก ทำให้รายได้หายไปเกือบ 40% 

 

สำหรับเป้าหมายการขยาย Flash Express ยังเดินหน้าตามแผนเดิม ในปีนี้เตรียมไปอีก 1 ประเทศ อยู่ระหว่างศึกษาตลาดในสิงคโปร์และเวียดนาม เพียงแต่ต้องเดินช้าลง เพราะยังเจอปัญหาเรื่องคน จากนี้จึงต้องโฟกัสเรื่องการสร้างผู้บริหาร เพื่อส่งตัวออกไปบริหารในตลาดต่างประเทศตามเป้าหมายบริษัทที่ต้องการขยาย

ไปให้ครอบคลุมประเทศในอาเซียน 

 

ขณะที่ในไทยเตรียมปรับปรุงคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการหันมาโฟกัสธุรกิจ F-Commerce เปิดให้บริการแบรนด์สินค้าบนแพลตฟอร์ม TikTok ในรูปแบบ MCN เราเป็นตัวกลางเปิดให้อินฟลูเอนเซอร์หรือเหล่าคนดังเข้ามาเซ็นสัญญาขายสินค้าในพื้นที่เรา โดยบริษัทมีบริการครบวงจร ทั้งนี้ เพื่อรองรับเทรนด์ TikTok ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและฐานลูกค้าของ E-Commerce

 

คมสันต์ ลี ยังได้ประเมินว่า ปี 2566 จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก ทั้งการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัว การท่องเที่ยวที่กลับมา ราคาน้ำมันที่คงไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้ และสงครามใกล้จะจบ ทุกอย่างก็จะกลับมาดีขึ้น

 

สำหรับผลประกอบการของปี 2565 รายได้ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่มีรายได้ 17,600 ล้านบาท  ไม่ได้เติบโตขึ้นมาก ต้องยอมรับว่าขาดทุนมากกว่า 20%

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมียอดพัสดุ 2 ล้านชิ้นต่อวัน มีพนักงานกว่า 50,000 คน มีจุดรับส่งพัสดุทั่วประเทศกว่า 15,000 แห่ง ประกอบด้วย Flash Shop, Flash Home และจุด Drop Off ที่ร่วมกับกลุ่มพาร์ตเนอร์หลักอย่าง Cafe Amazon, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าบิ๊กซี, The Living OS และธนพิริยะ 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X