×

‘หุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’ ปี 2023 ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจและระเบียบการค้าโลกครั้งใหญ่

05.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงในปี 2022 ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีที่ต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่ลดลงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
  • บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เผชิญความกดดัน เมื่อพนักงานเริ่มออกมาเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมทั้งความไม่เป็นธรรมกับสภาพการทำงานของพวกเขา ด้วยการก่อตั้งสหภาพแรงงานภายในบริษัท นำโดย Amazon Labor Union (ALU) ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2022
  • ผู้บริหารกองทุนเทคโนโลยีคาดการณ์ว่า ปี 2023 หุ้นเทคโนโลยียังคงจะเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายตึงตัวทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทำให้รายได้บริษัทอาจต่ำกว่าปี 2022 ซึ่งส่งผลเชิงลบกับราคาหุ้น

สำหรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Alphabet หรือ Meta ปี 2022 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นปีที่มีอุปสรรคกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และนโยบายตึงตัวทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงและเริ่มหันกลับไปลงทุนหุ้นปลอดภัย (Defensive) ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มี Market Cap 6 อันดับแรกในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ (Apple, Microsoft, Alphabet, Nvidia, Amazon และ Meta) มีการถูกเทขายอย่างหนัก ทำให้ Market Cap ลดลงรวมกันถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2022 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ้นเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยบวกจากการระบาดของโควิดที่ทำให้ความต้องการใช้สินค้าหรือบริการด้านเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มมองว่าราคาหุ้นของหลายบริษัทนั้นสูงเกินไป ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการระบาดปี 2022 


บทความที่เกี่ยวข้อง

 


ทว่า สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกังวลคือ สภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจลากยาวไปหลายปีต่อจากนี้ บวกกับการที่ธนาคารกลางหลายแห่งปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทำให้มีการคาดการณ์ถึงผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีว่า ‘อาจจะไม่สดใส’ เหมือนปีก่อนๆ และความคาดหวังต่อการเติบโตมีอัตราลดลง ส่งผลลบกับของมูลค่าราคาหุ้นกลุ่มนี้

 

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมีปัจจัยเฉพาะที่อาจเป็นอุปสรรคต่อหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งผลลัพธ์จะค่อยๆ ปรากฏให้เห็นในปี 2023 

 

ข้อขัดแย้งระหว่างบริษัทเทคโนโลยีกับพนักงาน

เหล่าบริษัท Big Tech นั้นมองว่า กลุ่มอุตสาหกรรมของตนแตกต่างจากธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะว่ามีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และความเร็ว เป็นจุดต่างสำคัญ จึงมองว่าการที่จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุมหรือการมีสหภาพแรงงานเหมือนบริษัททั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับธรรมชาติของธุรกิจ และจะยิ่งเป็นการเพิ่มสิ่งกีดขวางในการทำงานของพวกเขา

 

แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่ Big Tech ต้องการ แต่ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2022 ความไม่พอใจของพนักงานกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่ออดีตพนักงานที่ถูกไล่ออกจาก Amazon อย่าง คริส สมอลส์ แกนนำในการขับเคลื่อนให้พนักงานของโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของ Amazon Inc. ในนิวยอร์ก เข้าร่วมสหภาพแรงงานภายในบริษัท Amazon Labor Union (ALU) เนื่องจากความไม่พอใจในการดูแลพนักงานของบริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลกนี้ ที่มีสภาพการทำงานมีความกดดันสูงเกินไป ทำให้พนักงานหลายคนคิดว่าพวกเขาทำงานเกินที่ศักยภาพร่างกายของพวกเขาจะรับไหว 

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้มีพนักงาน Amazon จำนวนมากกว่าครึ่งโหวตที่จะเข้าร่วม เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลสำหรับพวกเขามากขึ้น ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของขบวนการเคลื่อนไหวต่อบริษัท Big Tech และอีก 2 เดือนต่อมาพนักงานบริษัท Apple เองก็มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องแบบเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการโหวตโดยเสียงส่วนมากของพนักงานในการเข้าร่วมสหภาพแรงงานแล้วนั้น ทางบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เองก็มีไม่มีทีท่าจะยอม และพยายามกีดกั้นโดยการจัดประชุมภายในองค์กรที่มีผู้บริหารระดับสูงคอยรณรงค์ห้ามปรามไม่ให้พนักงานของตนเข้าร่วม และเชิญชวนให้ Vote NO โดยให้เหตุผลว่า การเข้าร่วมสหภาพแรงงานนั้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนหรือบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่มีความจำเป็น

 

หลายฝ่ายมองว่า การต่อสู้ระหว่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และกลุ่มแรงงานที่ต้องการผลักดันการเปลี่ยนแปลงน่าจะยืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดยอม ทางบริษัท Big Tech เองก็ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาตอบรับข้อเรียกร้องของพนักงานแต่อย่างใด ซึ่งมีแนวโน้มว่าการสู้ของทั้งสองฝ่ายน่าจะใช้เวลาต่อไปในปี 2023

 

สภาพแวดล้อมเปลี่ยน-คู่แข่งเพิ่ม

ในปี 2022 บริษัท Amazon และ Meta มีการไล่พนักงานออกหลายพันคน ส่วน Google ก็มีความเข้มงวดมากขึ้นในการประเมินผลงานของพนักงาน อีกทั้งยังกดดันให้พนักงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นไปอีก 

 

Amazon: ธุรกิจของ Amazon ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ธุรกิจค้าปลีก, Amazon Web Service และ Prime ซึ่งกำลังเผชิญกับการชะลอตัวท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มซบเซา ผู้คนที่เคยใช้งานซื้อสินค้าหรือบริการผ่าน Amazon ในช่วงการระบาดของโควิดนั้นลดลง เพราะมีการเปิดเมืองและผู้คนหันกลับไปใช้บริการห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ในกลุ่มของผู้ใช้บริการระบบคลาวด์ พวกเขาก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลกับรายได้ที่ลดลงของบริษัทหรือยอดผู้ใช้งาน Amazon Prime ก็มาถึงจุดอิ่มตัวในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงการเติบโตที่ลดลงในอนาคต

 

Twitter: หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเทกโอเวอร์ Twitter ได้ไม่นาน ก็เกิดความปั่นป่วนภายในองค์กรหลายอย่าง เช่น การลาออกของพนักงานจำนวนมาก หรือระบบรูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชันที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยเริ่มหันไปหาตัวเลือกอื่นอย่าง Mastodon ที่มีบัญชีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นสูงถึง 5 ล้านรายนับตั้งแต่ Twitter ตกไปอยู่ในความดูแลของมัสก์ และยังมีแพลตฟอร์มอย่าง Hive ที่ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 1.5 ล้านบัญชี แน่นอนว่า ณ ตอนนี้แอปเหล่านี้ยังคงไม่สามารถแข่งกับ Twitter ในระดับที่จะทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกวิ่งเต้นได้ เนื่องจากผู้ใช้งานล้นหลามที่ยังคงอยู่บน Twitter มีถึง 245 ล้านบัญชี แต่ด้วยกฎหมายต่อต้านการผูกขาดและการที่ผู้ใช้งานเปิดใจรับบริการใหม่ๆ ที่พวกเขามองว่าตรงกับความต้องการมากที่สุด แพลตฟอร์มเล็กรายใหม่ๆ นี้ก็น่าจะยังสามารถเติบโตมาแข่งในตลาดได้

 

Alphabet: การเกิดใหม่ของ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ผ่านข้อความได้อย่างเป็นธรรมชาติซึ่งเป็นกระแสดังช่วงปลายปี 2022 แม้จะยังไม่ได้เป็นคู่แข่งตัวสำคัญของ Google ในปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ChatGPT ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับเจ้าตลาด Search Engine อยู่ไม่น้อย สำหรับปี 2023 เราน่าจะได้เห็นถึงการเปิดตัวของปัญญาประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน หรืออาจจะดีกว่าของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของพวกเขาไว้ อีกปัจจัยที่กระทบต่อ Alphabet คือด้านรายได้จากการโฆษณาที่อาจลดลง หากการใช้จ่ายในฝั่งผู้บริโภคหดตัวเนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจ

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อสำหรับหุ้นเทคโนโลยีในปี 2023

นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนหลายคนยังคงมีมุมมองที่คล้ายกันต่อตลาดปี 2023 ว่าอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคือหนึ่งในนั้น ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่า “เรามีสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ การที่เราจะนำเสถียรภาพทางด้านราคากลับมา เราจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายตึงตัวทางการเงินต่อไปอีกสักระยะจนกว่าเป้าหมายของเราจะเสร็จสิ้น” ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงแบบนี้ เราคงต้องยอมรับว่า หุ้นเทคโนโลยียังคงจะเผชิญแรงต้านไปอีกสักระยะจากนักลงทุนที่ไม่กล้าเสี่ยงเท่ากับช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยต่ำ และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทเทคโนโลยี

 

อีกสิ่งที่ต้องจับตาคือ การประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ที่ทาง Morgan Stanley ออกมาคาดการณ์ว่า รายได้รวมของหุ้นในดัชนี S&P 500 จะอยู่ที่ราคา 195 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยลงทุน ต่ำกว่าของปีนี้ถึง 11% ที่ 218 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยลงทุน หากมุมมองนี้เป็นจริง หุ้นมีแนวโน้มจะทำได้ไม่ดี

 

ด้าน แดน ไนลส์ ผู้บริหารจัดการกองทุน Satori ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่โฟกัสการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เป็นหลัก มองว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังไปสู่ขาลง และสิ่งที่เขาเลือกที่จะถือตอนนี้คือเงินสด เขามีมุมมองว่า ดัชนี S&P 500 ที่มีเหล่าบริษัท Big Tech อยู่ด้วยจะไปแตะที่ 3,000 จุด ซึ่งเท่ากับขาลงไปอีกได้ถึง 20%

 

ดูเหมือนว่าปี 2023 จะมีความท้าทายหลายด้านกดดันราคาหุ้น Big Tech ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่น่ากังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดปัจจัยความขัดแย้งภายในที่พนักงานเริ่มไม่พอใจกับวิธีการจัดการดูแลที่พวกเขาได้รับจากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกดดันในที่ทำงานที่บีบให้พวกเขาต้องแสดงผลงานให้ได้ดีมากขึ้น จนทำให้มีการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องของค่าจ้างและระบบการทำงาน นี่เป็นโจทย์หลักของปี 2023 ที่เหล่า Big Tech จำเป็นต้องหาวิธีรับมือให้ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X