วันนี้ (4 มกราคม) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 5/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีใจความว่า
ด้วยปรากฏข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย เช่น เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ และเว็บไชต์ผู้จัดการออนไลน์ เกี่ยวกับการลงนามในสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่าสูงถึง 33 ล้านบาทเศษ (วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 34 ล้านบาท) มีราคากลางคำนวณ ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 จำนวน 33,169,726.39 บาท โดยใช้วิธีการจัดซื้อหรือจ้างแบบเฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและราคาที่ต้องซื้อหรือจ้าง ได้แก่ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ UNIQ เป็นเหตุให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ รวมถึง สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
เนื่องจากไม่ใช่เหตุของความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการว่าจ้างเอกชนด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะทำให้การรถไฟฯ สูญเสียงบประมาณในการว่าจ้างปรับปรุงป้ายชื่อที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าปกติ ทั้งนี้ หากดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีการประกาศเชิญชวนหรือวิธีการคัดเลือกก่อน จะทำให้การใช้งบประมาณของการรถไฟฯ เป็นไปอย่างเหมาะสม
เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า ได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร และการใช้งบประมาณเหมาะสมกับปริมาณงานและราคากลางของกรมบัญชีกลางหรือไม่
.
รวมถึงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาลและรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง)
2. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง
3. ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการ
4. ผู้แทนสภาสถาปนิก
5. ผู้แทนสภาวิศวกร
6. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง
7. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
8. ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานเลขานุการ สำนักงานปลัด กระทรวงคมนาคม
9. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้ช่วยเลขานุการ กรมการขนส่งทางราง
10. ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ช่วยเลขานุการ
โดยให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องทั้งปวงที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใด ที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง
ให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานตังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ได้
ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566