วานนี้ (3 มกราคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แสดงออกผ่าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่าไม่มีความจำเป็นต้องรีบ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นไปตาม ‘ดุลยพินิจของสมาชิก’
พริษฐ์ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงการละเว้นไม่พูดถึงสาระสำคัญของปัญหา เพราะแม้ ส.ว. จะเหลือวาระอีกไม่นาน แต่ระยะเวลาที่เหลือนั้นคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2566 ทำให้ ส.ว. ยังคงสามารถแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลไปอีก 4 ปีตามวาระรัฐบาลใหม่ ซึ่ง ส.ว. ไม่ควรเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเชื่อของตนเอง แต่ควรเลือกจากบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง หากต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้งจริงๆ
พริษฐ์ยังกล่าวต่อไปว่า หาก ส.ว. อยากเห็นประเทศเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย ที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. ควรจะต้องทำ 2 เรื่องในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย
- ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และปิดสวิตช์ตนเองก่อนการเลือกตั้ง
- ออกมายืนยันกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง หากพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทัน ว่า ส.ว. พร้อมจะลงมติสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากพรรคไหน และจะไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่อนุญาตให้บุคคลหรือพรรคใดเอาเสียงของ ส.ว. ไปต่อรองในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล
พริษฐ์กล่าวด้วยว่า หาก ส.ว. ไม่ประสงค์จะใช้อำนาจในทางที่ไปขัดผลการเลือกตั้งอย่างที่เคยได้อ้างไว้จริง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะไม่สนับสนุนการตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และควรต้องออกมาให้คำมั่นต่อประชาชนในทางสาธารณะโดยพร้อมเพรียงกันด้วย
“ถ้าท่านดำเนินการตาม 2 ข้อนี้ได้ ท่านจะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น ว่าแม้ที่มาของท่านเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน แต่ ณ วันนี้ ท่านได้พยายามแล้ว ในการทำให้ประเทศเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศ เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง” พริษฐ์กล่าว