เครื่องบินรบของจีนบินสกัดกั้นเครื่องบินลาดตระเวนสอดแนมของสหรัฐฯ เหนือทะเลจีนใต้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการบินที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลให้เครื่องบินสหรัฐฯ ต้องทำการบินหลบหลีกเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
กองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก หรือ INDOPACOM ซึ่งรับผิดชอบดูแลปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เปิดเผยในแถลงการณ์ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม เครื่องบินขับไล่ J-11 ของกองทัพเรือจีน บินเข้ามาในระยะ 20 ฟุตจากจมูกเครื่องบิน RC-135 Rivet Joint ซึ่งเป็นเครื่องบินลาดตระเวนสอดแนมของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่มีลูกเรืออยู่บนเครื่องประมาณ 30 คน ทำให้เครื่องบิน RC-135 ต้องตัดสินใจบินหลบหลีกเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
INDOPACOM ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า เครื่องบิน RC-135 บินอยู่ในน่านฟ้าสากลเหนือทะเลจีนใต้ และกำลังปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติอย่างถูกกฎหมาย
“กองกำลังร่วมอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ อุทิศตนเพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และจะยังคงบิน เดินเรือ และปฏิบัติการในทะเลและในน่านฟ้าสากล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเรือและอากาศยานทั้งหมดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ระบุ
วิดีโอที่เผยแพร่โดย INDOPACOM แสดงให้เห็นภาพเครื่องบิน J-11 ของจีนที่กำลังบินห่างออกไปจากจมูกของเครื่องบิน RC-135 อย่างรวดเร็ว โดยเจ้าหน้าที่กลาโหมรายหนึ่งเผยว่า ขณะที่เครื่องบินทั้งสองลำบินเข้าใกล้กันนั้น ทางฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาเห็นว่าเครื่องบินของจีนไม่น่าจะรักษาระยะห่างอย่างปลอดภัยจากเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ใหญ่กว่าและหนักกว่า ทั้งยังคงวิถีและความเร็ว ส่งผลให้เครื่องบิน RC-135 ตัดสินใจบังคับเครื่องบินบินห่างลงมาจากเครื่องบินของจีน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยด้วยว่า การโต้ตอบทางเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงระหว่างเครื่องบินสหรัฐฯ กับจีน ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะที่ปลอดภัยและเป็นมืออาชีพ แต่ในกรณีของเหตุการณ์นี้ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าไม่ปลอดภัย สหรัฐฯ จึงตอบโต้ผ่านช่องทางการทูตและการทหารผ่านเส้นทางการสื่อสาร (Lines of Communication) กับปักกิ่ง
“เราตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นในกรณีนี้” เจ้าหน้าที่กล่าว
ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงเกาะหลายแห่งในทะเลจีนใต้ว่าเป็นน่านน้ำและดินแดนของตน พร้อมกับเสริมสร้างกำลังทหารตามพื้นที่พิพาทเหล่านี้ แต่สหรัฐฯ ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว และปฏิบัติภารกิจตามปกติในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operations)
ภาพ: VCG / VCG via Getty Images
อ้างอิง: