ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า การเยือนและหารือระดับทวิภาคีช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สร้างความใกล้ชิดและผลักดันความสัมพันธ์ของไทยกับหลายเขตเศรษฐกิจให้มีความลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่ด้านความสัมพันธ์ทางการทูต แต่รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน การศึกษา ฯลฯ ในระยะยาว
ยกตัวอย่างเช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี และซาอุดีอาระเบียก็สนใจจะเข้ามามีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยมีไทยเป็นหุ้นส่วน รวมทั้งยังหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพระหว่างกัน โดยเฉพาะการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการลงทุน วิทยาศาสตร์และการวิจัย ความร่วมมือด้านฮัจญ์ และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังร่วมเป็นสักขีพยานในการแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ด้านการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุ-ไทย การส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ความร่วมมือด้านพลังงาน การท่องเที่ยว และการต่อต้านการทุจริต จึงถือได้ว่าความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียเข้าสู่บริบทใหม่ เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์
ส่วนการเยือนไทยของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ก็มีความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระยะยาว โดยมีการหารือถึงแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส 2022-2024 เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี 2024
ไทยและฝรั่งเศสได้ตกลงจะจัดการหารือระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งหารือการอำนวยความสะดวกการเยือน สนับสนุนการแลกเปลี่ยนผ่านการลงนาม ในความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี 2023 อีกทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูง (HLED) และด้วยการสนับสนุนของสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย (FTBF) ในสาขาต่างๆ ได้แก่ คมนาคมขนส่ง / โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เมืองอัจฉริยะและสร้างสรรค์ อาหารเพื่ออนาคต และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน รวมถึงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ในการหารือนอกรอบ APEC ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็สร้างประโยชน์ในแง่ความสัมพันธ์เช่นกัน โดยมีการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นจากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ในโอกาสครบรอบ 135 ปี และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สตาร์ทอัพ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งรวมถึงภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่นที่สอดรับ Bio-Circular Green Economy Model (BCG) ของไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือภายใต้สถาบันโคเซ็น รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระยะสั้นระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาในประเทศที่สามและในกรอบพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะในกรอบแม่โขง-ญี่ปุ่น ACMECS และอาเซียน-ญี่ปุ่น และฝ่ายไทยได้ขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) และการทำงานต่อยอดก็จะมีต่อไป
ณัฐภาณุกล่าวว่า การมาเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในฐานะสมาชิกเขตเศรษฐกิจหรือแขกพิเศษของเจ้าภาพ ล้วนเป็นโอกาสสำคัญที่จะมีผลลัพธ์ไกลไปกว่าสัปดาห์การประชุมผู้นำ APEC แม้การประชุมเสร็จสิ้นลง แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศยังไม่สิ้นสุด ความสำเร็จทางการทูตวัดได้จากการสานต่อประเด็นที่ไทยนำการหารือในกรอบ APEC เช่น BCG และนอกกรอบในระดับทวิภาคีด้วยเช่นกัน