เกิดอะไรขึ้น:
เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม 2565 (ลดลง MoM) สะท้อนได้จากราคาสุกรในประเทศอยู่ที่ 103 บาทต่อกิโลกรัม (บาท/กก.) ลดลง 1%MoM และราคาไก่เนื้อในประเทศอยู่ที่ 44 บาท/กก. ลดลง 6%MoM โดยมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัว เนื่องจากฝนที่ตกหนักและสถานการณ์น้ำท่วม
ขณะที่ราคาสุกรในจีนอยู่ที่ CNY 25/กก. ลดลง 7%MoM โดยมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวในช่วงล็อกดาวน์ และราคาสุกรในเวียดนามอยู่ที่ VND 53,000/กก. ลดลง 4%MoM สืบเนื่องมาจากฝนที่ตกหนักและสถานการณ์น้ำท่วม ส่วนต้นทุนอาหารสัตว์บกทรงตัว MoM แต่ยังอยู่ในระดับสูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนได้จากราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ที่ 12.3 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 15%YoY แต่ทรงตัว MoM และราคากากถั่วเหลืองนำเข้าอยู่ในระดับสูงที่ 22.9 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 16%YoY แต่ทรงตัว MoM
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น GFPT และ CPF ปรับตัวลงแรง 10.8%MoM และ 6.5%MoM มาอยู่ที่ระดับ 13.20 บาท และ 23.60 บาท ตามลำดับ สวนทางกับ SET Index ที่ปรับขึ้น 0.41%MoM สู่ระดับ 1,632.97 จุด ซึ่งคาดเกิดจากตลาดกังวลราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกที่มีการปรับตัวลดลง MoM ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันศักยภาพการทำกำไรของบริษัท
มุมมองระยะสั้น:
InnovestX Research มองว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น GFPT และ CPF ได้ปรับลงมาสะท้อนความกังวลข้างต้นไปแล้ว ขณะที่ล่าสุดอุปทานสัตว์บกยังคงตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์โดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน รวมทั้งจีนมีแผนเปิดเมืองหรือคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ซึ่งคาดจะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาผลิตภัณฑ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนต้นทุนอาหารสัตว์แม้จะยังอยู่ในระดับสูงในระยะสั้น แต่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงในปีหน้า อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับการเพาะปลูกรอบถัดไป
ดังนั้นเราจึงยังคงคำแนะนำ Outperform สำหรับ GFPT และ CPF อย่างไรก็ดีเลือก CPF เป็นหุ้นเด่น (Top Pick) ของกลุ่มฯ เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัว YoY ใน 4Q65 เพราะราคาสัตว์บกอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรได้ในประเทศไทย เวียดนาม และจีนใน 4Q65TD และผลการดำเนินงานจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2566 จากฐานต่ำของราคาสุกรในจีน (CTI) และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจากบริษัทร่วมอื่นๆ (CPALL และ MAKRO)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม:
ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเนื่องจากกำลังซื้อเปราะบางอันเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหว พบว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลกระทบกดดันกำไรให้ปรับตัวลงจากประมาณการราว 1%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 หุ้นสุดฮอต ค่า P/E Ratio สูงทะลุ 500 เท่า
- เช็ก! 10 หุ้น SETHD จ่ายเงินปันผลสูง