×

รายงานชี้ จีนตั้งสถานีตำรวจในต่างประเทศกว่า 100 แห่งทั่วโลก โดยได้รับความยินยอมจากบางประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
05.12.2022
  • LOADING...
สถานีตำรวจ

จีนจัดตั้งสถานีตำรวจในต่างประเทศมากกว่า 100 แห่ง เพื่อติดตาม ข่มขู่ และส่งพลเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับจีน โดยอาศัยข้อตกลงด้านความมั่นคงที่จีนทำกับประเทศต่างๆ เช่น ในยุโรป และแอฟริกา 

 

Safeguard Defenders องค์กรสิทธิมนุษยชนในกรุงมาดริด รวบรวมเอกสารทางการของจีนที่มีการเปิดเผยโดยทั่วไป เพื่อค้นหาหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกับ CNN ว่า พบหลักฐานที่จีนเปิดสถานีตำรวจในต่างประเทศเพิ่มอีก 48 แห่งนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ทางกลุ่มเปิดโปงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกว่าจีนมีสถานีตำรวจ 54 แห่งในต่างประเทศ

 

การเปิดโปงครั้งใหม่ที่มีชื่อว่า Patrol and Persuade มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบเครือข่ายสถานีตำรวจของจีนในต่างประเทศว่าขยายวงกว้างเท่าใด และตรวจสอบว่าโครงการความร่วมมือด้านตำรวจระหว่างจีนกับหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี โครเอเชีย เซอร์เบีย และโรมาเนีย มีบทบาทอย่างไรในการนำร่องการขยายตัวดังกล่าว 

 

ปักกิ่งปฏิเสธว่าไม่มีกองกำลังตำรวจนอกอาณาเขต โดยกระทรวงการต่างประเทศบอกกับ CNN เมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า “เราหวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหยุดการกระพือข่าวเพื่อสร้างความตึงเครียด การใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างเพื่อป้ายสีจีนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” 

 

ขณะเดียวกันจีนอ้างว่าสถานที่ที่ Safeguard Defenders ระบุว่าเป็นสถานีตำรวจนั้น แท้จริงแล้วเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเรื่องต่างๆ แก่ชาวจีนที่ทำงานในต่างประเทศ เช่น การต่ออายุใบขับขี่ นอกจากนี้ศูนย์เหล่านี้ยังช่วยเหลือชาวจีนในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งทำให้พลเมืองจำนวนมากถูกกักตัวในต่างประเทศ หรือไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศจีนได้ ทำให้พลเมืองจีนเหล่านี้ไม่สามารถต่ออายุเอกสารต่างๆ ได้

 

กระทรวงการต่างประเทศของจีนเปิดเผยกับ CNN ที่สอบถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของ Safeguard Defenders เมื่อเดือนที่แล้วว่า ศูนย์เหล่านั้นดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของ Safeguard Defenders ระบุว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับการว่าจ้างมา โดยยกหลักฐานเป็นสัญญาระยะเวลา 3 ปีที่สถานีตำรวจจีนในสตอกโฮล์มว่าจ้างเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง นอกจากนี้ทางกลุ่มยังระบุด้วยว่า สำนักงานในต่างประเทศของจีนมีมาก่อนการแพร่ระบาดนานหลายปีแล้ว

 

ทั้งนี้ กิจกรรมกงสุลที่ดำเนินการนอกเหนือไปจากความรับผิดชอบของคณะผู้แทนทางการทูตอย่างเป็นทางการของประเทศหนึ่งๆ ถือเป็นเรื่องผิดปกติและผิดกฎหมาย เว้นแต่ประเทศนั้นๆ จะให้ความยินยอมโดยชัดแจ้ง 

 

รายงานของ Safeguard Defenders ส่งผลให้เกิดการตรวจสอบในอย่างน้อย 13 ประเทศ และทำให้ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา ซึ่งมีชาวจีนพลัดถิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนได้กระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าพบสถานีตำรวจแห่งใหม่ โดยรายงานระบุว่า จีนลงนามข้อตกลงความมั่นคงระดับทวิภาคีกับอิตาลีมาตั้งแต่ปี 2015 และในระหว่างปี 2016-2018 ตำรวจอิตาลีดำเนินการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจจีนหลายครั้ง ครั้งแรกในกรุงโรมและมิลาน และต่อมาในเมืองอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเนเปิลส์ นอกจากนี้ Safeguard Defenders กล่าวว่า ทางกลุ่มยังพบหลักฐานว่ามีการติดตั้งระบบกล้องวงจรในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนด้วย

 

ในปี 2016 เจ้าหน้าที่ตำรวจอิตาลีกล่าวกับสถานีตำรวจ NPR ว่า การรักษาความเรียบร้อยร่วมกันจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการแบ่งปันทรัพยากรที่กว้างขึ้น เพื่อต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรและผู้ก่อการร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศของเรา

 

Safeguard Defenders ระบุว่า อิตาลีมีสถานีตำรวจจีนอยู่ 11 แห่ง รวมถึงในเวนิสและปราโต ใกล้กับฟลอเรนซ์ ทั้งยังอ้างถึงพิธีเปิดสถานีตำรวจจีนแห่งหนึ่งในกรุงโรมเมื่อปี 2018 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอิตาลีเข้าร่วมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกองกำลังตำรวจของสองประเทศ

 

นอกจากอิตาลีแล้ว จีนยังได้ทำข้อตกลงลักษณะเดียวกันกับโครเอเชียและเซอร์เบียในระหว่างปี 2018-2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

 

สำนักข่าว Xinhua ของทางการจีน รายงานข่าวการลาดตระเวนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจโครเอเชียและจีนบนถนนในกรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของโครเอเชีย เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซาเกร็บให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า การลาดตระเวนมีความสำคัญต่อการปกป้องและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังอ้างถึงรายงานข่าวของสำนักข่าว Reuters เมื่อปี 2019 ว่า เจ้าหน้าที่จีนได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เซอร์เบียดำเนินการลาดตระเวนในกรุงเบลเกรด เพื่อช่วยจัดการกับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเจ้าหน้าที่เซอร์เบียเผยว่า เจ้าหน้าที่จีนไม่มีอำนาจจับกุม

 

นอกจากในยุโรปแล้ว Safeguard Defenders ระบุว่า จีนได้จัดตั้งสถานีตำรวจในประเทศแอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย โดยรายงานของทางกลุ่มระบุว่า จีนเริ่มวางรากฐานสำหรับสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของแอฟริกาใต้เมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว ก่อนที่จะจัดตั้งเครือข่ายที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Overseas Chinese Service Centers ร่วมกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ 

 

Safeguard Defenders เปิดเผยว่า ทางกลุ่มบังเอิญพบเรื่องเครือข่ายสถานีตำรวจในระหว่างการประเมินความพยายามของจีน ในการโน้มน้าวประชาชนบางส่วนให้เดินทางกลับประเทศแม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม 

 

“สิ่งที่เราเห็นจากจีนคือความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการปราบปรามผู้เห็นต่างทั่วโลก คุกคามผู้คน ก่อกวนผู้คน ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาหวาดกลัวจนไม่กล้าเคลื่อนไหว มิเช่นนั้นจะถูกส่งกลับจีน” ลอรา ฮาร์ธ ผู้อำนวยการ Safeguard Defenders Campaign กล่าว

 

“มันเริ่มต้นด้วยการโทรศัพท์ พวกเขาอาจเริ่มข่มขู่ญาติของคุณที่ประเทศจีน คุกคามคุณ ทำทุกอย่างเพื่อเกลี้ยกล่อมเป้าหมายในต่างประเทศให้กลับมา หากไม่ได้ผลพวกเขาจะใช้ตัวแทนที่แฝงตัวอยู่ในต่างประเทศ และใช้วิธีการต่างๆ เช่น การหลอกล่อให้ติดกับ” ฮาร์ธกล่าว

 

อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่า พลเมืองจีนถูกบีบบังคับให้กลับประเทศโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่ประจำการอยู่ ณ สถานีตำรวจของจีนในเขตชานกรุงปารีส 

 

ขณะเดียวกันการเปิดโปงของ Safeguard Defenders ส่งผลให้เกิดความกังวลในหลายประเทศ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการ FBI กล่าวกับคณะกรรมการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิว่า เขากังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ “เป็นเรื่องอุกอาจที่คิดว่าตำรวจจีนจะพยายามตั้งสถานีในนิวยอร์ก โดยไม่มีการประสานงานที่เหมาะสม มันละเมิดอำนาจอธิปไตย รวมทั้งหลีกเลี่ยงกระบวนการการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย” 

 

ขณะที่ไอร์แลนด์สั่งปิดสถานีตำรวจจีนที่พบในประเทศ ด้านเนเธอร์แลนด์และสเปนดำเนินมาตรการคล้ายกัน รวมถึงเปิดฉากสอบสวนเรื่องนี้

 

“จีนไม่ได้ปิดบังว่ากำลังทำอะไร พวกเขากล่าวอย่างชัดเจนว่ากำลังจะขยายการดำเนินงานเหล่านี้” ผอ. Safeguard Defenders กล่าว

 

ภาพ: Zef Art via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X