เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธที่ 30 พฤศจิกายนว่า ธุรกิจต่างๆ ที่ทบทวนห่วงโซ่อุปทานของตนควรคำนึงถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงกรณีภัยคุกคามของจีนต่อไต้หวัน และการปฏิบัติอื่นๆ ของจีนที่สร้างความกังวลด้านความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ
ความเห็นของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการเข้าร่วมการเสวนาของเวที New York Times DealBook Summit ที่นิวยอร์ก โดยเยลเลนระบุว่า แม้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เคารพนโยบาย ‘จีนเดียว’ ของรัฐบาลจีน แต่การรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับไต้หวันและสันติภาพในช่องแคบไต้หวันนั้น ‘สำคัญมาก’
เยลเลนกล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจอเมริกันในกรณีที่จีนคุกคามไต้หวันตามที่หลายฝ่ายกังวลกันไว้ก็คือ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความเสี่ยงดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าที่ภาคธุรกิจอเมริกันจะพิจารณาความเสี่ยง โดยเฉพาะต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน และหาแผนการรับมือกับผลกระทบที่อาจเป็นไปได้จากความเสี่ยงนั้น
รายงานระบุว่า ขณะนี้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ เริ่มคิดถึงความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น รวมถึงแนวทางปฏิบัติของไต้หวันและจีนที่ก่อให้เกิดความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ โดยเมื่อไม่นานมานี้ เยลเลนเพิ่งจะกล่าวสนับสนุนให้เอกชนสหรัฐฯ เดินหน้ากระจายห่วงโซ่อุปทานจากจีนไปยังตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย
ที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ ได้ออกนโยบายกระตุ้นมากมาย ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงเอาฐานการผลิตกลับมาในประเทศ และลดการพึ่งพาโรงงานผลิตของจีนที่ค่อนข้างมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เยลเลนยังคงยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีการแลกเปลี่ยนด้านการค้าและการลงทุนที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย โดยเยลเลนสนับสนุนให้มีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนบางรายการ
พร้อมกันนี้ เยลเลนยังมองว่านโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีนในขณะนี้ จะมีผลต่อความพยายามในการแก้ปัญหาดิสรัปชันในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อบรรลุผลสำเร็จได้ช้าลง ขณะที่การจัดการของจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัว ซึ่งอาจถึงจุดที่จะส่งผลเสียต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกทั้งหมดในที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์จีนหวั่น Zero-COVID คุกคามซัพพลายเชน
หลี่เต้ากุ๋ย ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Mansfield Freeman ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน และอดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน แสดงความเห็นระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า แม้ทางการจีนจะสามารถทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดที่เข้มงวดเพื่อคุมการระบาดของไวรัสโควิดในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า แต่นโยบาย Zero-COVID ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั่วโลก โดยเฉพาะในระบบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมของประเทศ
หลี่กล่าวว่า ในระยะสั้นห่วงโซ่อุปทานจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากโรงงานยังคงเปิดดำเนินการอยู่ แม้ว่าการบริโภคจะลดลงเนื่องจากการล็อกดาวน์ ขณะที่ผลกระทบในระยะยาวอาจเป็นรูปเป็นร่างแล้ว กล่าวคือประชาคมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกำลังคิดทบทวนเกี่ยวกับเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในจีน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายต่อหลายคนเคยคิดว่าจีนเป็นแหล่งจัดหา (Supplier) ที่มั่นคงที่สุด ปลอดภัยที่สุด และมีเสถียรภาพที่สุด แต่ตอนนี้คนกลุ่มนี้ต่างกำลังคิดที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานสำรองของตนเองขึ้นใหม่ในประเทศหรือภูมิภาคของตน เนื่องจากเกือบ 3 ปีของการใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มงวด ได้ฉุดให้การเติบโตของจีนชะลอตัวอย่างมาก จากเดิมที่ปีละ 6-8% มาอยู่ที่ต่ำกว่า 3% ต่อ GDP ในช่วงปีนี้เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจเน็ต เยลเลน ยืดอกยอมรับ คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด แต่เชื่อว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
- เจเน็ต เยลเลน เผยแผนกำหนดเพดาน ‘ราคาน้ำมันรัสเซีย’ ได้ผล หลังรัสเซียยอมลดราคาขายล็อตใหญ่ให้ ‘จีน-อินเดีย’
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อ้างอิง: